ตลาดหุ้นไทยในต้นปี 2568 ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของต้นปี 2568 ที่ปัจจุบันแม้จะอยู่ในช่วงต้นปี แต่มีมูลค่าการซื้อขายต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยสถิติจาก บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยถึงมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน
ปี 2564 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 86,999 ล้านบาท
ปี 2565 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 70,063 ล้านบาท
ปี 2566 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 50,655 ล้านบาท
ปี 2567 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 44,855 ล้านบาท
ปี 2568 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 35,686 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประเมินว่า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เบาบาง ไม่มีแรงมากพอผลักตลาดขึ้น รอพัฒนาการที่ดีขึ้น หลังจากที่มีกระแสข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์ปล่อย MARGIN LOAN จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 68 จึงทำให้หุ้นที่มีการใช้ MARGIN ในระดับสูงถูกกดดันวานนี้ ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนหายไป เพิ่มเติมต่อจากเรื่องอื่นๆ
เช่น GLOBAL MINIMUM TAX, ค่าไฟฟ้า 3.7 บาท/หน่วย, ไวรัส HMPV, คนจีนหายตัว กดดันให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทย ยังคงเบาบางในช่วงต้นปี โดยค่าเฉลี่ยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 5 วันแรกของปี 68 อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ลดลง 22% จากปีก่อน และคิดเป็น TURNOVER ต่อปีแค่ 50.7% น้อยกว่าปีอื่นๆ ทำให้ตลาดยังขาดเม็ดเงินที่ขับเคลื่อนในช่วงนี้
อย่างไรก็ตามในระยะถัดไปมีปัจจัยหนุนจากความคาดหวังการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 น่าจะเติบโตทั้งจากไตรมาสก่อนและจากปีก่อน จากฐานที่ต่ำกว่าระดับปกติที่ 2.5 แสนล้านบาทต่อไตรมาส โดยงวดไตรมาสที่ 4 ของปี 66 อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท และกำไรงวดไตรมาสที่ 3 ของปี 67 ที่ 1.9 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่เต็มตลาด สะท้อนได้จากมีหุ้นที่มีมูลค่าหุ้นทางบัญชี หรือ PBV ต่ำกว่า 1 เท่า โดยมีถึง 37 บริษัท อาทิ IRPC TOP PTTGC BAM BANPU RCL BBL STA BCPG SCC และหุ้นตัวอื่นๆ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นนักลงทุนหดหาย ประเด็นกดดัน GLOBAL MINIMUM TAX, ค่าไฟฟ้า 3.7 บาท/หน่วย, ไวรัส HMPV, คนจีนหายตัว, กังวลหุ้นวางมาร์จิ้นเยอะ ส่งผลให้เงินทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้าในช่วงสั้น และกดดันมูลค่าการซื้อขายเบาบางในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม ยังพอมีหุ้นราคาถูกที่น่าทยอยสะสมอยู่บ้าง และกำไรงวดไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ที่จะทยอยประกาศออกมามีโอกาสที่จะเติบโตทั้งจากไตรมาสก่อนและจากปีก่อน
ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 มีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น ดัชนีฟื้นตัวมากกว่า 10% ก่อนจะเจอปัจจัยกดดันจากต่างประเทศส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออก
อย่างไรก็ตามในปี 2568 มองว่า ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีระดับ P/E ที่ต่ำ บริษัทมีหนี้สินต่อทุนไม่สูง ดังนั้นเรายังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งปัญหาของเราเป็นเรื่องการขาดสตอรี่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อน