เจาะลึกแนวโน้มหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2568 พร้อมกลยุทธ์การลงทุน หลังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนในปีที่ผ่านมา สะท้อนจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงจากต้นปี โดยเฉพาะ CCET และ DELTA หลังบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ รวมถึงบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหลายบริษัท ประกาศขยายการลงทุนในประเทศไทย ทำให้แนวโน้มผลประกอบการยังคงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด
การลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานว่า มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท สูงกว่ายอดปี 2566 ทั้งปีที่ 1.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การลงทุนในด้านศูนย์ข้อมูล (Data Center) ยังคงแข็งแกร่ง แต่การลงทุนในกลุ่ม EV มีแนวโน้มชะลอตัว โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่าการตั้งโรงงานผลิต EV เต็มรูปแบบ ทำให้เม็ดเงินการลงทุนในส่วนนี้ต่ำกว่า Data Center
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองเชิงบวกเล็กน้อยต่อกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในห่วงโซ่อุปทานในประเทศในอนาคต โดยอุตสาหกรรมชั้นกลางน้ำถึงปลายน้ำจะได้รับประโยชน์จากคำสั่งซื้อจากลูกค้าจีนและตะวันตกเพิ่มขึ้น แต่คาดแนวโน้มในอีก 2 ไตรมาสข้างหน้ายังไม่สดใส และการเติบโตจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Data Center เท่านั้น
บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น DELTA หนึ่งในหุ้นชิ้นส่วนฯ ที่ราคาปรับขึ้นมาอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากความคาดหวังผลประกอบการในอนาคต และจากแรงซื้อเก็งกำไร โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ราคาหุ้น DELTA แพงเกินไป โดยบริษัทมีมุมมองต่อแนวโน้มในไตรมาส 4/67 ที่อ่อนตัวลง และบริษัทได้ปรับลดแนวโน้มลงเล็กน้อย โดยคาดว่ารายได้จะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยมีแรงหนุนจากความต้องการสินค้าที่เกียวข้องกับ AI และ Data center ที่ยังแข็งแกร่ง แต่ความต้องการสินค้าจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังคงอ่อนแอ
ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอาจเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ อันเนื่องมาจากต้นทุนเพิ่มเติมและรายการย้อนกลับของสินค้าคงคลังที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ดังนั้น เราคาดว่ากำไรของ DELTA จะอ่อนตัวลง แต่ยังคงเติบโตได้จากปีก่อน
ทั้งนี้ ปรับลดคำแนะนำเป็น “ขาย” ราคาเป้าหมายคงที่ที่ 110 บาท แม้ว่าความต้องการสินค้าและรายได้ของ DELTA จะยังคงแข็งแกร่ง แต่มีความเสี่ยงต่อกำไรปี 2568 จากภาษีและค่าใช้จ่าย R&D ที่สูงขึ้น ราคาหุ้นอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมี P/E สูงถึง 82 เท่า ซึ่งดูเหมือนจะสูงเกินไปสำหรับการเติบโตของกำไรเพียง 13% (CAGR) ในช่วงปี 2568-2569
บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น CCET หุ้นชิ้นส่วนที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 หลังราคาทำจุดสูงสุดไม่หยุด บวกจากต้นปีกว่า 300% ซึ่งข้อมูลจากบทวิเคราะห์ฯ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ก็มีความเห็นต่อแนวโน้มธุรกิจไปในเชิงบวก จากทั้งการขยายโรงงานในประเทศบราซิลช่วยเพิ่มกำลังการผลิตในตลาดอเมริกาใต้ พร้อมทั้งรองรับลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มเติม และการเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง ซึ่งคาดว่าจะใช้ศักยภาพการผลิตเต็มที่ในปี 2568
โดยยังคงเป้าหมายกำไรสุทธิปี 2567-2569 โตได้ต่อเนื่อง โดยปี 2567 คาดอยู่ที่ 2.6 พันล้านบาท ปี 2568 อยู่ที่ 3.1พันล้านบาท และปี 2569 อยู่ที่ 3.6พันล้านบาท นอกจากนี้คาดกำไรไตรมาส 4/67 จะเติบโตได้โดดเด่นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย
อย่างไรก็ตาม คงคำแนะนำ “ลดน้ำหนักลงทุน” ราคาเป้าหมาย 5.00 บาท โดยอ้างอิงจาก P/E ปี 2568 ที่ 16.8 เท่า แม้ว่าบริษัทจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายTrade war 2.0 ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาที่ภูมิภาคอื่น รวมถึงการปรับเปลี่ยนไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อเน้นสินค้าที่มีไฮมาร์จิ้ นแต่เรามองว่าราคาหุ้นปัจจุบันได้สะท้อนปัจจัยบวกเหล่านี้ในระดับที่มากพอสมควรแล้ว
บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น HANA รายงานผลผลประกอบการไตรมาส 3/67 ออกมาไม่ดีนัก กำไรปกติทำได้ 52 ล้านบาท ลดลง 89% จากไตรมาสก่อน และลดลง 92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากธุรกิจ IC กลับมาอ่อนแอ มีการตั้งด้อยค่าสินค้าคงคลัง จากค่าเงินบาทแข็งค่ากดดัน และธุรกิจ SiC ได้รับผลกระทบจากตลาด EV มีราคาขายที่ลดลงแรงและการที่ตลาดจีนถูกขึ้นภาษีจากประเทศอื่นๆ
โดยบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ผลงานอาจฟื้นตัวได้จำกัดในไตรมาส 4/67 ขณะเดียวกัน คงคาดการณ์กำไรปกติปี 2567 ที่ 1.1 พันล้านบาท ลดลง 42% จากปีก่อน และปี 2568 ที่ 1.4 พันล้านบาท เติบโตได้ 28% คงราคาเหมาะสมของ HANA ณ สิ้นปี 2568 ที่ 30.00 บาทต่อหุ้น อิง P/E 19.1 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ยในอดีต ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “TRADING” หุ้นปรับลดลงจน Downside Risk ไม่มากแล้ว
อย่างไรก็ดีหุ้นยังไม่มี Upside มากเพียงพอให้กลับเข้าสะสมรอบใหม่ เชิงกลยุทธ์ราคาหุ้นจะน่าสนใจที่ระดับต่ำกว่า 30.00 บาทต่อหุ้น โดยยิ่งราคาต่ำกว่า 30.00 บาทต่อหุ้น ก็จะยิ่งน่าสนใจมากขึ้นสำหรับการทยอยสะสม สำหรับรอบ 6 เดือนขึ้นไป ไม่ใช่ลุ้นการฟื้นตัวระยะสั้น
ปิดท้ายด้วย บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KCE ถือว่ามีลุ้น หลังบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากการติดตั้งเครื่องจักร HDI เสร็จจะช่วยเร่งกำลังผลิตได้เพิ่มมากขึ้น และการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่จะช่วยลดต้นทุนแรงงาน และมีอัตราการสูญเสียที่ลดลง แนวโน้มรายได้ปี 2568 ทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และมีค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินซื้อ ICL ปีหน้าจะเน้นไปที่การลดต้นทุนเป็นหลัก
ทั้งนี้ ยอดขายยานยนต์ในสหรัฐฯอ่อนตัว เติบโตเพียง EV car ซึ่งยังมีสัดส่วนน้อย ในขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์ในยุโรปกำลังเผชิญกับอุปสงค์ที่ลดลง, ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้เจอกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน แม้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกลดลง แต่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ผู้ผลิตทางฝั่งยุโรปและสหรัฐฯยังคงทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ปรับประมาณการรายได้ลงและปรับกำไรปี 67 และ 68 ลง 23% และ 31% ตามลำดับ ทางฝ่ายฯใช้ P/Eเฉลี่ย 1 ปี -1.0S.D ปรับ P/E ลงมาที่ 21.2 เท่า ปรับราคาพื้นฐานลงมาที่ 29.50 บาท แนะนำรอจังหวะลงทุนในช่วงครึ่งแรกปี 2568 เพื่อรอระดับกำลังผลิต HDI เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คงคำแนะนำ ”ซื้อ”
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้