ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างหนัก หลังเกิดวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนชั้นนำหลายแห่งในปี 2567 ด้วยปัญหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การผิดนัดชำระหนี้ การทุจริตในองค์กร ไปจนถึงการเทขายหุ้นของผู้บริหารและข้อสงสัยในความโปร่งใส ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงอย่างน่าตกใจ
ในบทความนี้ เราจะพาคุณย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญจาก 5 บริษัทที่เผชิญวิกฤติรุนแรง ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญให้กับตลาดหุ้นไทยที่ต้องเร่งปรับตัวและแก้ไขเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน
บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) (NEX) หนึ่งในจุดเริ่มต้นของวิกฤติความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยจากจุดเริ่มต้น โดยหลังราคาหุ้น NEX ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง จากระดับ 11 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 1.30 บาท จนสร้างความเสียหายอย่างหนักกับนักลงทุนในวงกว้าง ท่ามกลางข้อสงสัยว่า มีการเกิด Naked short หรือไม่ ก่อนที่ต่อมาจะมีรายการการเทขายหุ้นจำนวนมากของผู้ถือหุ้นใหญ่ และรายงานการขายหุ้นที่ล่าช้า
นอกจากนี้บริษัทยังมีปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก จากปัญหารถเมล์ไฟฟ้าที่ส่งมอบไม่ได้ตามแผนตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 5,000 คัน โดย 9 เดือนแรกปี 68 บริษัทขาดทุน -387.47 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงจากต้นปี 2.1 หมื่นล้านบาท เหลือเพียงแค่ 1.3 พันล้านบาทเท่านั้น โดยที่ผ่านมามีแผนเพิ่มทุน RO และ PP กว่า 8 พันล้านบาท แต่ต้องเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผลดังกล่าวทำให้ สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งให้ NEX ชี้แจงถึงการขายหุ้นของผู้บริหาร ในขณะที่ NEX อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มทุนเพื่อกู้วิกฤติความเชื่อมั่น
ปัญหาของ NEX ไม่ได้หยุดอยู่ที่บริษัทเพียงผู้เดียว แต่ลามมายัง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน NEX ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยราคาหุ้นของ EA ถูกถล่มลงอย่างหนัก หลังจาก NEX เริ่มมีปัญหาในด้านผลประกอบการ และNEX เป็นหนึ่งในลูกหนี้การค้ารายใหญ่ของ EA
ประกอบกับ Adder ของโครงการโรงไฟฟ้า EA กำลังจะเริ่มทยอยหมดอายุ ทำให้โดยโครงการ Solar ลำปาง กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ หมดอายุปี 2567 และโครงการอื่นๆ จะทยอยหมดอายุเพิ่มเติมไปอีก
ต่อมา EA เจอวิบากกรรมต่อไป เมื่อ ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหาร EA ในกรณีการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์และซอฟต์แวร์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่าความเสียหายกว่า 3,465 ล้านบาท ส่งผลให้ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต้องออกจากตำแหน่ง
ส่งผลให้ราคาหุ้นของ EA มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงจากต้นปีที่ 1.74 แสนล้านบาท เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น โดย EA อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพคล่อง โดยมีการเพิ่มทุน RO 3,713 ล้านหุ้น หรือเพิ่มทุน 1 ต่อ 1 ในอัตราหุ้นละ 2 บาท เพื่อใช้หนี้หุ้นกู้
อีก 1 บริษัทที่ประสบปัญหาความเชื่อมั่น คือ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG ผู้ผลิตเกมส์และภาพยนตร์ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งและมีการเติบโตสูง แต่สุดท้ายก็เกิดความไม่ปกติเกิดขึ้น เมื่อราคาหุ้นของ YGG ลดลงอย่างรุนแรง โดยมีปริมาณหุ้นที่เทขายออกมาสูงกว่าจำนวนที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ถืออยู่
ก่อนที่จะมีรายงานออกมาว่า ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร ของ YGG ซึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของบริษัท ได้ถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ในช่วงวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2567 รวมจำนวน 221,879,026 หุ้น คิดเป็น 36.86% ของหุ้นทั้งหมด ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของเขาลดลงจาก 41.143% เหลือเพียง 4.286%
โดยภายหลังจากการถูกบังคับขายหุ้นเกิดขึ้น บริษัทได้รายงานงบ 9 เดือน 2567 ขาดทุน 384.32 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน ทำให้เวลานี้ขาดสภาพคล่อง ต้องเร่งหารายได้
ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ YGG ลดลงจากต้นปีที่ 4,333 ล้านบาท ล่าสุด เหลือ 361 ล้านบาท
บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เป็นหนึ่งในหุ้นที่หวือหวามากที่สุดตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยคอนเซ็ปต์ "ตื่นยันหลับ ชีวิตติดสบาย" ทำให้บริษัทมีการลงทุนในหุ้นหลายตัวในตลาดหลักทรัพย์ และวาดฝันมีรายได้ในปี 2566 ที่ 2 หมื่นล้านบาท แต่แล้วความฝันนั้นไม่เป็นจริง แถมมีการเทขายหุ้นอย่างหนักของผู้บริหารบริษัท ทั้งนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้สั่งให้ SABUY ชี้แจงถึงข้อสังเกตในงบการเงิน เหตุผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงาน หลังมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และอาจสูญเสียอำนาจควบคุม SBNEXT
ปัจจุบัน SABUY อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง หลังจากต้องผิดนัดชำระหนี้กู้ โดยมีผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้ามาขับเคลื่อนบริษัท โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงจากต้นปีที่ 9,185 ล้านบาท เหลือ 1,532 ล้านบาท ในปัจจุบัน
ปิดท้ายด้วย บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ที่บริษัทดำเนินธุรกิจตามปกติ แต่ในวันหนึ่งราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง บริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้พบประเด็นในการพบรายการที่น่าสงสัย 145 ล้านบาท ที่เกี่ยวพันกับผู้ก่อตั้ง ส่งผลให้บริษัทต้องสำรองความเสียหายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามเวลาต่อมา นายแพทย์ บุญ วนาสิน อดีตผู้ก่อตั้ง THG ได้มีข่าวในการฉ้อโกงนักลงทุนความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งมีกระแสข่าวลือว่า มีความพัวพันกับทาง THG ด้วย ก่อนที่บริษัทได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว พร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างผู้บริหาร และเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบความผิดปกติในธุรกรรมของบริษัทเพิ่มเติม โดยมูลค่าบริษัทลดลงจากต้นปี 47,246 ล้านบาท มาอยู่ที่ 13,644 ล้านบาท