THAI ขายหุ้นเพิ่มทุน 4.48 บาท คาดกลับมาเทรดปี 68 หวั่น “คลัง” ส่งคนนั่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่ม

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

THAI ขายหุ้นเพิ่มทุน 4.48 บาท คาดกลับมาเทรดปี 68 หวั่น “คลัง” ส่งคนนั่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่ม

Date Time: 27 พ.ย. 2567 15:08 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • จับตา การบินไทย จัดประชุมเจ้าหนี้ 29 พ.ย.นี้ เสนอแก้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ 3 เพิ่มจำนวนกรรมการ กระทรวงการคลังเล็งส่งคนนั่งเพิ่ม ชี้เป็นประโยชน์เชื่อมโยงหน่วยงานรัฐ แต่อาจทำงานช้าลง พร้อมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 4.48 บาท ให้ผู้ถือหุ้นเดิม-พนักงาน-บุคคลวงจำกัด มูลค่ารวม 4.4 หมื่นล้านบาท วันที่ 6-12 ธ.ค.นี้ คาดกลับมาเทรดได้ในไตรมาส 2/68

Latest


จับตากรณี  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น THAI เตรียมจัดประชุมเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 29 พ.ย. 2567 เพื่อเสนอแก้แผนฟื้นฟูกิจการ 3 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจาก 3 คน เป็น 5 คน และเป็นการเพิ่มผู้บริหารแผนฯ จากกระทรวงการคลัง อาจเป็นประโยชน์จากการเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐมากขึ้น แต่อาจดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้ช้าลง หรือไม่

นอกจากนี้ การบินไทย ประกาศเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 4.48 บาท ให้ผู้ถือหุ้นเดิม พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด มูลค่ารวม 4.4 หมื่นล้านบาท ภายในวันที่ 6-12 ธ.ค.นี้ คาดปรับโครงสร้างทุนทำส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้ภายในปีนี้ และนำหุ้นกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในไตรมาส 2/68 

จับตาประชุมเจ้าหนี้ โหวตส่งคนจาก “ก.คลัง” นั่งผู้บริหารแผนฯ เพิ่ม

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น THAI เตรียมจัดประชุมเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 29 พ.ย. 2567 เพื่อเสนอแก้ไขแผนจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในวาระที่หลายฝ่ายต่างให้ความสนใจ คือ การเสนอแก้ไขฉบับที่ 3 โดยกระทรวงการคลังเสนอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ จากภาครัฐอีก 2 คน เป็น 5 คน จากที่มีผู้บริหารแผนฯอยู่แล้วในปัจจุบัน 3 คน

โดย กระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่า การเพิ่มผู้บริหารแผนฯ จากภาครัฐในครั้งนี้ เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการฯ ตัดสินใจสำคัญ และประสานกับผู้ถือหุ้น (กระทรวงการคลังเป็นสำคัญ) ทั้งระหว่างที่ยังอยู่ในการฟื้นฟูกิจการฯ และหลังจากออกจากการฟื้นฟูกิจการฯ แล้ว

ชี้ประโยชน์เชื่อมโยงภาครัฐ แต่อาจทำงานช้าลง

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจาก 3 คน เป็น 5 คนนั้น อาจทำให้ใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ นานขึ้น จากที่ผ่านมาค่อนข้างทำได้เร็ว อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการโหวตไม่เห็นชอบ จำนวนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการก็จะมี 3 คนเท่าเดิม

ส่วนประเด็น การบินไทย จะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เนื่องจากหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะจะทำให้การทำงานยากขึ้นภายใต้กฎหมายรัฐวิสาหกิจ แต่หากภาครัฐมีอำนาจบริหารมากขึ้น อาจทำให้มีอุปสรรคในการทำงานเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ บริษัทจะมีจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีหลังจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งอาจทำให้มีการโหวตกรรมการบริษัทจากภาครัฐเข้ามาเพิ่มได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ให้สิทธิเลือกกรรมการได้

อย่างไรก็ตาม พรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ในฐานะผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่นั้น อยู่ที่ฉันทานุมัติของเจ้าหนี้ในการพิจารณา ซึ่งการยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการทั้ง 3 ฉบับ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

สำหรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ 3 นั้น เป็นการแก้ไขเพื่อให้มีการพิจารณาแนวทางและนโยบายของรัฐบาล ในการยกระดับให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านคมนาคม การใช้เส้นทาง และการใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ดังนั้น หากมีผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่มาจากภาครัฐ ที่รู้ถึงรายละเอียดของนโยบายที่เกี่ยวข้อง จะสามารถเชื่อมโยงการทำงานของการบินไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนการขยายฝูงบิน การให้บริการแบบโครงข่าย  ซึ่งจะทำให้การทำงานของการบินไทยได้รับประโยชน์ในส่วนที่สามารถเชื่อมโยง และใช้โครงสร้างพื้นฐานทางการบินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ส่วนประเด็นการคัดเลือกกรรมการบริษัทนั้น มองว่า กรรมการไม่ได้มีเฉพาะส่วนของภาครัฐอย่างเดียว โดยจะมีเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย และจะมีการสรรหากรรมการเข้ามาดูแลประโยชน์ ดังนั้น จะเกิดการ Check and Balance ของกลุ่มผู้ถือหุ้นกันเอง โดยมีการทำงานภายใต้ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ

เสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 4.48 บาท มูลค่า 4.4 หมื่นล้าน วันที่ 6-12 ธ.ค.นี้ 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการบินไทยเดินหน้ากระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังประสบความสำเร็จในกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเจ้าหนี้แสดงเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ในระหว่างวันที่ 19 - 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ล่าสุด พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในส่วนถัดไป โดยเสนอขายจำนวนไม่เกิน 3,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามรายชื่อที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 (Record Date) ที่มีที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น พนักงานของบริษัทฯ และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ

การเสนอขายครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 ผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนดเพื่อปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการและสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน สู่ศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการปรับโครงสร้างทุนให้กลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 4/67 ที่ประกาศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชีอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอพิจารณาออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และนำหุ้น THAI กลับมาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในไตรมาส 2/68

เปิดแผนชิงมาร์เก็ตแชร์ แตะ 35% ลุยเพิ่มฝูงบิน-มุ่งสร้างเครือข่าย เพิ่มรายได้

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยรายได้รวมของสายการบินในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 119% ของรายได้รวมก่อนโควิด-19 หรือเติบโต 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารและการรักษาเสถียรภาพของผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร

ขณะเดียวกัน ทิศทางอุตสาหกรรมการบินในอนาคตจะเติบโตได้ดี โดยมีการประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะเติบโตได้ถึง 2.1 เท่า ในปี 2586 หรืออยู่ที่ 8,600 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีการเติบโตมากที่สุด เฉลี่ย 5.3% ต่อปี ดังนั้น การบินไทย จะต้องเตรียมแผนเพื่อหยิบฉวยโอกาสที่รออยู่ในอนาคต

ทั้งนี้ การบินไทย มุ่งมั่นที่จะเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเครือข่าย จากการเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางการบินที่แข็งแรงในภูมิภาคเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และมุ่งสู่การเป็นผู้นำในประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางการบิน เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้เป็น 35% ในปี 2572 จากปัจจุบันอยู่ที่ 26%

โดยบริษัทมีแผนจัดหาฝูงบินเพิ่มเป็น 143 ลำ จากปัจจุบันอยู่ที่ 77 ลำ และลดประเภทของเครื่องบินลงเหลือ 4 ประเภท เพื่อให้สามารถบริหารต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ มีแผนในการปรับปรุงช่องทางการจัดจำหน่าย โดยจะเน้นการขายโดยตรงจากบริษัทให้มากขึ้น จากการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของตัวเอง เพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพาการขายจากตัวแทนจำหน่ายลง

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมผลประกอบธุรกิจของการบินไทยในงวด 9 เดือนของปี 2567 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูกิจการ สะท้อนถึงศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการที่เรียกความเชื่อใจจากลูกค้ากลับมาได้ รวมถึงผลมาจากความมุ่งมั่นในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

 

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ