นายแพทย์วีรพล เขมะรังสรรค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข้อถกเถียงในด้านการให้บริการ Stem Cell ของบริษัทและกฎหมายในเมืองไทยถึงการให้บริการดังกล่าวนั้น
ทางบริษัทขอแจ้งว่า เมดีซ ดำเนินธุรกิจตามกฎหมายในประเทศไทยทุกประการ ซึ่งธุรกิจด้านการให้บริการจัดเก็บ Stem Cell ในเมืองไทยมีมายาวนานกว่า 40 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่การที่ เมดีซ เข้าตลาดหุ้นทำให้ธุรกิจนี้ถูกจับจ้องมากขึ้น “ธุรกิจด้าน Stem Cell ในเมืองไทยมีมาแล้ว 40 ปี และเราเป็นบริษัทที่ 5 ที่ให้บริการ ซึ่งเรามองว่าธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และกำลังเป็นกระแสของโลก ซึ่งเรามองว่าเพราะเราเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงเกิดข้อถกเถียงต่างๆ เกิดขึ้น”
ทั้งนี้การให้บริการของบริษัท คือ เป็นธนาคาร Stem Cell ซึ่งในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งสหรัฐมีธนาคารสเต็มเซลล์ของภาครัฐอยู่ที่ 25 แห่ง และเอกชน 16 แห่ง หรือในทวีปยุโรปมีธนาคารสเต็มเซลล์ของภาครัฐอยู่ที่ 25 แห่ง ส่วนประเทศไทย ปัจจุบันไม่มีธนาคารจัดเก็บ Stem Cell ของภาครัฐ แต่ของเอกชนนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง และมองว่าในอนาคตจะมีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในด้านธุรกิจนั้น บริษัทยังเดินหน้าขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
โดยให้ความสนใจขยายตลาดในประเทศกัมพูชา โดยมองว่า เป็นตลาดที่มีการลงทุนจากจีนจำนวนมาก และเป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งหากเข้าไปทำตลาดน่าจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุนกับบริษัทในพื้นที่ สำหรับการเติบโตในช่วงไตรมาสที่ 4 มองว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ เนื่องในช่วงเวลาดังกล่าวมีการคลอดบุตรจำนวนมาก ซึ่งมองว่าจะมีการเติบโตที่ดีกว่าไตรมาสที่ 3
อารียา อนันต์วรรักษ์ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย บริษัท เอสซีแอล นิซิมูระ แอนด์ อาซาฮี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของบริษัท MEDEZE ได้เปิดเผยเพิ่มเติมสำหรับข้อมูลทางกฎหมาย และการบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย และการบังคับใช้ของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัดว่า
MEDEZE ประกอบธุรกิจตรวจวิเคราะห์ คัดแยก เพาะเลี้ยง และรับฝากเซลล์ต้นกำเนิด รวมถึงตรวจศักยภาพเซลล์ภูมิคุ้มกัน ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการประกอบไปด้วย ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด และมาตรฐานธนาคารเซลล์ โดย MEDEZE ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
และมีมาตรการในการโฆษณาที่จะไม่ใช้เนื้อหา หรือข้อความที่เป็นการชักจูง หรือเชิญชวนโดยใช้ข้อความโอ้อวดเกินจริง หรือใช้ข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้คนหลงเชื่อในการเข้าใช้บริการแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการต่าง ๆ หากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัดได้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอนาคต