สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดสถิติหุ้นไอพีโอ ผ่านโครงการ “Fact Figure” เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนทั่วไปมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น เบื้องต้นจะมีการระบุข้อมูลราคาซื้อขายวันแรก ราคาซื้อขายย้อนหลัง 1 เดือน, 3 เดือน และ 1 ปี พร้อมเปิดรายชื่อของ ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter)
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้หารือตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเติม เร่งสร้างเสน่ห์หุ้นไทย หวังดึงความสนใจนักลงทุนรายย่อยและสถาบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เตรียมปรับปรุงกระบวนการต่างๆ เพื่อรองรับ “หลักทรัพย์ดิจิทัล” พร้อมผลักดันบริษัทจดทะเบียนให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และทำ “Value-Up Program” สร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการ
เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นที่นักลงทุนมีความกังวลว่า “หุ้นไอพีโอ” มีการตั้งราคาเสนอขายสูงเกินไปหรือไม่นั้น มีความเห็นว่าการกำหนดราคาเสนอขายเป็นสิทธิของบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เป็นผู้ให้คำแนะนำ และมีผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) เป็นผู้สร้างสมดุลราคาเพื่อรับหุ้นไปเสนอขายให้กับนักลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งหากราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอแพงเกินไป กลไกตลาดและกลไกราคาจะเป็นตัวสะท้อนออกมา
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต. การทำศูนย์รวมข้อมูลสถิติหุ้นที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก “IPO Fact Figure” เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนทั่วไปมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น ผ่านเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เบื้องต้นจะมีการระบุข้อมูลราคาซื้อขายวันแรก ราคาซื้อขายย้อนหลัง 1 สัปดาห์, 1 เดือน, 3 เดือน และ 1 ปี พร้อมรายชื่อของที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์
ทั้งนี้ หากในอนาคตมีข้อมูลอื่นๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนหุ้นไอพีโอ ก็จะมีการพิจารณาเพื่อเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต โดยนักลงทุนสามารถเข้าไปดูได้ที่ https://web-fundraising.sec.or.th/ipo
เอนก อยู่ยืน กล่าวอีกว่า หลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากฉบับเดิม เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้กรอบกฎหมายและกฎเกณฑ์ของแต่ละองค์กร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นั้น
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการประชุมร่วมกันเพิ่มเติมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยในอนาคต เพื่อสร้างเสน่ห์และความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม เพื่อดึงผู้ลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มีแผนในการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลและป้องกันความเสี่ยงของตนเองได้ สำหรับการลงทุนต่างๆ ด้วย
สำหรับ “จุดขาย” ของตลาดทุนไทยนั้น เอนก ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก โดยเฉพาะด้าน ESG ที่ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และพยายามผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) กองทุนที่ใช้สิทธิการลดหย่อนภาษีในการจูงใจผู้ลงทุนให้มาลงทุนมากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา มีการขอยื่นจัดตั้งกองทุนเพิ่มขึ้น 12 กองทุน รวมเป็น 34 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) รวม 10,046 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 ก.ย.)
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าผู้ลงทุนจะมีการเข้าลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4/67 เนื่องจากเป็นโค้งสุดท้ายของปีในการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามากขึ้นจากปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้โปรดักส์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มีแผนผลักดันการจัดตั้ง ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Investment Trust : GIT) ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เพื่อรองรับและสนับสนุนการลงทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมภาคป่าไม้หรือการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ
นอกจากนี้ ยังจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจ ผู้ลงทุน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นช่องทางการระดมทุนในตลาดทุนแก่ธุรกิจ ทั้งโครงการสิ่งแวดล้อมที่ออกมาใหม่หรือเป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ กองทรัสต์ GIT ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ (private trust) หรือเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะมีการเปิดเสนอขายให้แก่นักลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น (ไม่ขายให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไป)
สำหรับทรัพย์สินหลักที่กำหนดให้กองทรัสต์ GIT ลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย (1) กรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าที่ดิน เฉพาะกิจกรรมในภาคป่าไม้และการเกษตร เพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอนให้เพียงพอตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และ (2) สิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของโครงการ
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้