2 ธนาคารใหญ่ โตแรง KTB-SCB กำไรทะลุหมื่นล้าน รับรายได้ดอกเบี้ยโต

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

2 ธนาคารใหญ่ โตแรง KTB-SCB กำไรทะลุหมื่นล้าน รับรายได้ดอกเบี้ยโต

Date Time: 21 ต.ค. 2567 18:28 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • KTB กำไรไตรมาส 3/67พุ่ง 11,107 ล้านบาท โต 8% ควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ด้าน SCB มีกำไรไตรมาส 3/67 แตะ 10,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% รับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเติบโตและตั้งสำรองหนี้เสียลดลง ล่าสุดประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี

Latest


เกาะติดการประกาศผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์งวดไตรมาส 3/67 ล่าสุด KTB โชว์ผลงานกำไรสุทธิพุ่งทะลุ 11,107 ล้านบาท โต 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ด้าน SCB มีกำไรไตรมาส 3/67 แตะ 10,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% รับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเติบโตและตั้งสำรองหนี้เสียลดลง ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย


KTB กวาด 1.1 หมื่นล้าน โต 8%


ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KTB รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารไตรมาสที่ 3/67 เท่ากับ 11,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/66


ทั้งนี้ มีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 23,363 ล้านบาท โดยเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวัง ติดตามคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด การบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอเพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ ส่งผลให้รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว 4.3% รวมถึงการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะในส่วนรายได้จากการดำเนินงานจากหนี้สูญรับคืน


ธนาคารมุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) เท่ากับ 42.4% ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเพิ่มขึ้น


สำหรับกำไรสุทธิจากดอกเบี้ยเท่ากับ 29,885 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโออย่างสมดุลและมีคุณภาพท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน


ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 5,619 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/66 พบว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 2.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเน้นการให้บริการด้านการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งส่งผลให้ค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวม (Mutual Fund) และประกันผ่านธนาคาร (Bancassurance) เติบโตขึ้น


SCB กำไรพุ่ง 13% ที่ 1.09 หมื่นล้าน


ด้านบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) หรือหุ้น SCB รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/67 จำนวน 10,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 67 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 32,236 ล้านบาท ลดลง 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


ในไตรมาส 3/67 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจํานวน 32,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ในขณะที่ยอดสินเชื่อโดยรวมลดลงเล็กน้อยในอัตรา 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายรอบด้าน รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ มีจํานวน 9,985 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลหลัก ๆ มาจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียม จากการขายประกันภัยและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ


ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานจํานวน 17,606 ล้านบาท ลดลง 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ไม่รวม ผลกระทบจากการขายแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ Robinhood อยู่ที่ 40.9%


บริษัทฯ ตั้งเงินสํารองลดลง 10.4% จากปีก่อน เนื่องจากไตรมาสนี้ไม่มีการตั้งสํารองพิเศษเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาตร์ดังเช่นในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพคงอยู่ในระดับสูงที่ 163.9% คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน 67 อยู่ที่ 3.4% ปรับตัว เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.3% ในปีก่อน เงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทฯ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 19.0%


อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) หรือหุ้น SCB กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ บริษัทฯ ยังคงให้ความสําคัญ กับการดําเนิน ธุรกิจด้วยความระมัดระวัง มุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพและเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ร่วมกับสองธนาคารดิจิทัลชั้นนําในภูมิภาค ได้แก่ KakaoBank และ WeBank ยื่นขออนุญาตประกอบ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า Virtual Bank จะเข้ามาช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทาง การเงิน อีกทั้งยังส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น


นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ขายกิจการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ Robinhood ให้กับกลุ่มผู้ลงทุนซึ่งนําโดยบริษัท ยิบอินซอย จํากัด ภายใต้ เจตนารมณ์ที่ต้องการส่งต่อแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของคนไทยเพื่อคนไทยต่อไป ทั้งนี้ การขายกิจการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการ รักษาเงินที่รอบคอบ เพื่อสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน 


ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% มาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป


กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงนักใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้และอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.575% เป็น 7.325% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.30% เป็น 7.175% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.05% เป็น 6.925% ต่อปี


โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ออกมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SME รายย่อย ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2567 ถึง 15 พฤศจิกายน 2567 นั้น ธนาคารได้พิจารณาขยายมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ