ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับภาครัฐและเอกชน จัดงาน "Thailand Focus 2024” ซึ่งเป็นอีเวนต์ใหญ่ ที่หวังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลก จากการโชว์ศักยภาพและความพร้อมของธุรกิจในประเทศไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความท้าทายด้านเศรษฐกิจ โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสสำหรับประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และศักยภาพตลาดหุ้นไทย
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่นักลงทุนกังวลในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศที่มีความแข็งแกร่งทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความชัดเจนทางการเมือง และความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้
ทั้งนี้ จะเห็นว่ากระแสเงินลงทุนต่างชาติเริ่มมีการไหลกลับเข้ามาอีกครั้ง หลังช่วงหลังโควิด-19 โดยประเมินว่าเป็นครั้งสำคัญเนื่องจากมีปัจจัยในประเทศความไม่แน่นอนน้อยที่สุด ดังนั้น ทำให้มองว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น
สำหรับการจัดงาน Thailand Focus เป็นเวทีสำคัญที่แสดงถึงศักยภาพการลงทุนในไทยแก่ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลก โดยปีนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกร่วมงาน 178 ราย จาก 80 สถาบันทั่วโลก และในจำนวนนี้มีผู้ลงทุนจากกลุ่มประเทศหลัก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสวีเดน ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน รับฟังความพร้อมและศักยภาพของภาคเอกชน ตลาดทุน และเศรษฐกิจไทย
ซึ่งหนุนความเชื่อมั่นและดึงดูดความสนใจลงทุนในประเทศไทย โดยมีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน 112 บริษัท จากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมให้ข้อมูลความแข็งแกร่งธุรกิจและทิศทางการเติบโตผ่านการประชุมทั้งรูปแบบ one-on-one และ group meeting
งาน Thailand Focus 2024 จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนแก่ผู้ลงทุนสถาบันต่างชาติ พร้อมนำเสนอให้เห็นถึงการปรับตัวและก้าวไปข้างหน้าของภาครัฐ ภาคตลาดทุน รวมถึงภาคเอกชนไทย โดยได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางระบบการเงินโลก และการเมืองที่มีความไม่แน่นอน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้วางบทบาทของตลาดทุนไทยในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยยุทธศาสตร์ 3 เสาหลัก ได้แก่
1.ความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น โดยมองว่าการกำกับดูแลธรรมาภิบาล เป็นหัวใจสำคัญสำหรับความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ดังนั้น การเดินหน้าส่งเสริมความเชื่อมั่นผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล จะทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทันเวลา ทั้งนี้ สามารถเสริมสร้างกรอบกฎหมาย จากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และ AI ด้วย
2.การเพิ่มขีดความสามารถของตลาดทุนไทย โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ให้เป็นที่สนใจสำหรับผู้ลงทุนในและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมภาคธุรกิจที่มีการเติบโตสูงเข้ามาใช้ตลาดทุน โดยสนับสนุนให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
3.การส่งเสริมความยั่งยืน โดยส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทจดทะเบียน จะเห็นได้ว่าปีที่แล้ว มีบริษัทจดทะเบียนรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 445 บริษัท หรือ 50% ของบริษัททั้งหมด ขณะที่มีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลง 6.1% รวมถึงการส่งเสริมบรรษัทภิบาล ผู้ถือหุ้น สอดคล้องกับกองทุน TESG ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดการลงทุนผ่านแรงจูงใจทางภาษี สำหรับการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ระดับสูง
อย่างไรก็ตาม มีการนำ “กองทุนวายุภักษ์” กลับมา โดยเชื่อว่าสนับสนุนการพัฒนาตลาดหุ้นไทย และให้ผลตอบแทนน่าสนใจได้ นอกจากนี้ จะเห็นว่าที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจครอบครัวด้วย ทั้งการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ และการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเป็นกลไกที่เข้ามาช่วยพัฒนา และสนับสนุนตลาดทุนไทยให้มีการพัฒนาต่อไปข้างหน้า ทั้งมาตรการที่ได้บังคับใช้ไปแล้วอย่าง Uptick Rule หรือมาตรการ Dynamic Price Band และ Minimum Resting Time ที่เตรียมประกาศใช้เร็วๆ นี้
ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ เป็นมาตรการที่ได้ศึกษามาแล้วว่ามีความเหมาะสมกับบริบทของตลาดทุนไทย โดยการนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนผ่านการจัดงาน “Thailand Focus” นั้น คาดหวังนักลงทุนต่างชาติได้เข้าใจทิศทางที่ตลาดทุนไทยกำลังเดินไป เพื่อโอกาสการสร้างเม็ดเงินลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้สนับสนุนการลงทุนระยะยาว เพื่อส่งเสริมการมี TESG และ กองทุนวายุภักษ์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
พรอนงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการกระทำที่ไม่สุจริตของบริษัทจดทะเบียน ผู้บริหาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุนอย่างมาก ซึ่งในมุมของสำนักงาน ก.ล.ต. กำลังเดินหน้า เพื่อทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เร็วขึ้น
พร้อมกันนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการดำเนินโครงการ “บริษัทจดทะเบียนเข้มแข็ง” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียน กรรมการ และผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนที่เป็น “Gatekeeper” เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย ด้วยการป้องปราม ป้องกันกรณีอาจเกิดเหตุทุจริตขึ้น
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้