จับตา 2 หน่วยงานตลาดทุนเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการ-ปรับเกณฑ์ใหม่ โดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมใช้ 3 มาตรการใหม่ โดยจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 2 กันยายนนี้ ได้แก่ Dynamic Price Band, Auction และ Minimum Resting Time โดยเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยลดความผันผวนและป้องกันคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมได้
ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับเกณฑ์ใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และสินทรัพย์ดิจิทัลในการระดมทุน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ "ซอฟต์พาวเวอร์"
รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ในฐานะโฆษก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้ 3 มาตรการใหม่ เพื่อควบคุมการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ โดยจะเริ่มบังคับในวันที่ 2 กันยายนนี้ ได้แก่ มาตรการกรอบราคาซื้อขายหลักทรัพย์ (Dynamic Price Band), มาตรการจับคู่ซื้อขายในคราวเดียว (Auction) และมาตรการกรอบเวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนจะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time)
สำหรับ มาตรการ Dynamic Price Band มีกลไกการทำงาน คือ จะมีการกำหนดช่วงราคาไว้ที่ ±10% จากราคาซื้อขายล่าสุด หากมีคำสั่งซื้อหรือขายหุ้นที่จะทำให้มีการจับคู่นอกช่วงราคาดังกล่าว ระบบซื้อขายจะหยุดจับคู่หุ้นนั้น และหยุดซื้อขายหุ้นทันที จากนั้นจะเข้าสู่ช่วง Pre-Open เป็นเวลา 2 นาที เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้ โดยจะไม่มีการจับคู่ซื้อขาย
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าหลังจากบังคับใช้แล้วจะช่วยทำให้ราคาหุ้นไม่ผันผวนเร็วเกินไป และสามารถป้องกันการสร้างราคาได้ รวมถึงจะช่วยให้นักลงทุนมีเวลาตัดสินใจซื้อขายได้มากขึ้น โดยจะบังคับใช้กับหุ้นที่มีราคามากกว่า 1 บาท ยกเว้นหุ้นที่มีเหตุอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าปกติ เช่น หุ้นไอพีโอ, หุ้นที่มีการทำคำเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในเฟสถัดไปในช่วงต้นปี 2568
ส่วนมาตรการซื้อขายด้วยวิธี Auction จะมีการบังคับใช้สำหรับหลักทรัพย์ที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ขึ้นไป เพื่อยกระดับการกำกับดูแลให้มากขึ้น โดยมีกลไกการทำงาน คือ การเปิดจับคู่ให้ซื้อขายวันละ 3 รอบ ในช่วง Pre-Open 1, Pre-Open 2 และ Pre-Close โดยสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ และสามารถแก้ไขปริมาณหุ้น หรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายระหว่างวันได้
และมาตรการกรอบเวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนจะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) เป็นการกำหนดเวลาขั้นต่ำของการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสนอซื้อขายในลักษณะใส่-ถอน ที่มีความถี่จนอาจทำให้หรือทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจผิด
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกการเสนอซื้อขายของตนได้ ภายหลังจากที่ได้มีการส่งหรือแก้ไขการเสนอซื้อขายแล้ว เป็นระยะเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 250 มิลลิวินาที หากเร็วกว่านั้น การส่งคำสั่งจะถูกยกเลิกโดยระบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถป้องกันการคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมจากโปรแกรมเทรด หรือโรบอตเทรดได้อย่างมีนัยสำคัญ และไม่กระทบต่อการซื้อขายของนักลงทุนบุคคลทั่วไป
เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนและเศรษฐกิจ ตามจุดมุ่งหมายสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม
ทั้งนี้ สินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ให้ผู้ระดมทุนเข้าถึงได้ และสะดวกกว่าการระดมทุนผ่านตลาดดั้งเดิม ซึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ผู้ระดมทุนในโครงการต่างๆ มากขึ้น ทั้งคริปโตเคอเรนซีและโทเคน
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มีการปรับเกณฑ์มารองรับการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ซอฟต์พาวเวอร์” โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สามารถออก Investment Token ทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ด้านการระดมทุนของโครงการในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมาก เช่น ค่ายเพลง, ค่ายหนัง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้ามาหารือแล้ว 1-2 ราย
ด้านจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคม 2567 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติมอีก 4 เรื่องสำคัญ ทั้งด้านการสนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล และการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่
1.การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์พร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้) ทั้งการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก และการกำกับดูแลตลาดรอง เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง และการใช้งานแต่ละประเภท เช่น ยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย สำหรับ Utility Token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเป็นการรับรอง หรือแทนเอกสารสิทธิใดๆ (Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1)
ขณะเดียวกัน การบริการเกี่ยวกับ Utility Token กลุ่มที่ 1 ไม่ว่าจะพร้อมใช้หรือไม่พร้อมใช้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและไม่ต้องได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ห้ามศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการ (เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดเพิ่มเติมในอนาคต)
และสำหรับ Utility Token พร้อมใช้ ลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 (Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2) ที่จะนำไป List ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และเสนอขายผ่าน ICO portal
2.โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Regulatory Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถทดสอบการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์และพัฒนานวัตกรรมในตลาดทุนภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. อย่างเหมาะสม โดย ก.ล.ต. สามารถประเมินและติดตามความเสี่ยงเพื่อประโยชน์การวางแนวทางการกำกับดูแลต่อไป โดยผู้สนใจสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2567
3.การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีกลไกการควบคุมดูแลการบริหารกิจการและการดำเนินงานอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น
กำหนดให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน โดยต้องเป็นกรรมการอิสระอย่างน้อย 2 คน และต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม
พร้อมทั้งกำหนดให้กรรมการ/ผู้บริหารต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือผ่านการอบรมในหลักสูตรที่ ก.ล.ต. กำหนด และต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดี (หากไม่เคยผ่านการอบรมต้องเข้าอบรมภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ)
และปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านระบบงานและมาตรฐานในการประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น จัดให้มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานทุกระบบที่สำคัญ ระบบงานในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยง
4.หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules) เพื่อให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนด Exchange rules ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การกำหนด Exchange rules ของศูนย์ซื้อขาย ต้องเป็นไปตามหลักการและมาตรฐานขั้นต่ำที่ ก.ล.ต. กำหนด
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้