ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เดินหน้าขับเคลื่อนศักยภาพธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจครอบครัวถือเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ โดยมีแผนกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ
ขณะเดียวกัน ธุรกิจครอบครัวจะได้รับประโยชน์ในการเข้าจดทะเบียน นอกเหนือจากการขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนไทยด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนศักยภาพธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยต่อเนื่อง มุ่งเพิ่มขีดความสามารถ และขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน โดยให้ความสำคัญ และสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบนิเวศ เพื่อการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทย เนื่องจากธุรกิจครอบครัวนับเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนกลยุทธ์สำคัญที่จะส่งเสริม ผู้ประกอบการทั้งด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ และระบบงานต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สร้างความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ และขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนถึง 67% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด โดยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 บริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ 76% เป็นธุรกิจที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่อย่างตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เชนจ์ (LiVEx) เป็นอีกหนึ่งกลไกให้ธุรกิจครอบครัวขยายโอกาสสู่การเติบโตผ่านตลาดทุนได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้ให้เห็นว่า ประโยชน์ของบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวที่จะได้รับในการเข้าจดทะเบียน มีดังนี้
1.เป็นแหล่งระดมทุนระยะยาว - ช่วยให้บริษัทโดยเฉพาะธุรกิจครอบครัว สามารถระดมทุนได้จากการขายหุ้นแก่ประชาชนเงินทุนนี้สามารถนำไปใช้ในการขยายธุรกิจ
2.ทำให้ผู้ถือหุ้นของครอบครัว มีสภาพคล่องของหุ้นและการเงิน - ช่วยให้ผู้ถือหุ้นในครอบครัวสามารถขายหุ้นได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะขายให้แก่สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลภายนอก
3.มีภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ - ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท เพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุน สถาบันการเงิน คู่ค้าทางธุรกิจ
4.สามารถเสนอสิทธิประโยชน์ให้กับผู้บริหารและพนักงาน - เช่น การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อกรรมการหรือพนักงาน (ESOP) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจ
5.เพิ่มมูลค่าของหุ้น ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของครอบครัว - ช่วยให้มูลค่าของหุ้นสะท้อนถึงมูลค่าตลาดที่แท้จริงมากขึ้น ซึ่งอาจสูงกว่าการประเมินมูลค่าปัจจุบัน
6.เพิ่มความสามารถในการดึงดูดมืออาชีพเข้าร่วมงาน - ช่วยเพิ่มความสามารถในการดึงดูดมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจ โดยเฉพาะในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวไม่ต้องการสืบทอดกิจการ
7.สามารถขจัดความขัดแย้งกันในสมาชิกครอบครัว - กรรมการอิสระจากภายนอก อาจมีการช่วยไกล่เกลี่ย เพื่อลดความขัดแย้งในครอบครัว
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้