นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่... (พ.ศ. ...) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าซื้อหน่วย ลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) จาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี
ทั้งนี้ ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และให้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี จากเดิมต้องถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2569 และกำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
“วงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุน สงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท”
กรณีผู้มีเงินได้ซื้อกองทุน TESG ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2567 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ดังกล่าวได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตรา 30% ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2570 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิหักค่าลดหย่อนในอัตรา 30% ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี นับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีกปีละประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท แต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับดังนี้ 1.สนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล 2.เพิ่มการลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทย 3.ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออมและการลงทุนระยะยาว
ด้านนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงาน “Media Briefing ก.ล.ต.พบสื่อมวลชนเดือน ก.ค.67” ว่า สำนักงาน ก.ล.ต.กำลังศึกษาการจัดตั้งกองทุนเยียวยาเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ลงทุน เบื้องต้นอาจต้องมีการแก้กฎหมาย เปิดช่องให้นำเงินค่าปรับจากการกระทำความผิดในตลาดทุนหรือค่าชดใช้ผลประโยชน์มาจัดตั้งเป็นเงินกองทุน จากเดิมที่นำค่าปรับหรือค่าชดใช้ผลประโยชน์ไปส่งคืนให้กระทรวงการคลังเท่านั้น โดย ก.ล.ต.จะนำเอาหลักการและวิธีปฏิบัติ เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เพื่ออนุมัติก่อนดำเนิน การแก้ไขกฎหมายต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี
ด้านนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษก ก.ล.ต.กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 ก.ค.67 พบมีการ กล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อพนักงานสอบสวน (บก.ปอศ.และดีเอสไอ) 6 กรณี แบ่งเป็นการสร้างราคาหรือปั่นหุ้น 2 กรณี และการทุจริต 4 กรณี ส่วนการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งนั้น มีค่าปรับรวมประมาณ 440 ล้านบาท.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่