ตลาดหุ้นไทย กำลังอยู่ในเทรนด์ของการฟื้นตัว เมื่อตลาดหลักทรัพย์พยายามควบคุมการ short sell เป็นจังหวะเดียวกันกับภาพของเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นความหวัง เมื่อเงินดิจิทัลเริ่มมีความคืบหน้า รวมถึงแพ็กเกจกองทุน TESG ถูกรีวิวความเหมาะสมใหม่ ซึ่งในมุมนักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัว และดัชนี 1,350 จุด จะไม่ใช่เรื่องยากที่ขึ้นผ่านไปได้
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า มาตรการภาครัฐฯ เตรียมเข้ามาในช่วงที่เหลือของปี ลุ้นพยุง SET ยืนเหนือ 1,350 จุด หลังกระทรวงการคลังมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ DIGITAL WALLET ต่อมาวานนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในแง่ของผลต่อเศรษฐกิจ ว่าตัวเลขคาดการณ์ผู้มาใช้สิทธิในโครงการดังกล่าวราว 40 กว่าล้านคน
ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการเติบโตของจีดีพีได้ ราว 1.3-1.8% แต่หากท้ายสุดมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็เชื่อว่าจะมีผลดีกับเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับสำนักเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้ง WORLD BANK และ สศช. ที่คาดว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.5-1.0% และ 0.25% ตามลำดับ
ซึ่งหากโครงการ DIGITAL WALLET กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง และหนุนให้เงินเฟ้อขยับขึ้นตามที่ ธปท. คาด อาจจะทำให้ประเทศไทยยังไม่เห็นการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ดังประเทศสหรัฐฯ และหนุนค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ประเด็นบวกถัดมาคือ ความคาดหวังเม็ดเงินจาก THAIESG เงื่อนไขใหม่ ที่คาดจะมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาหนุนตลาดหุ้น 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี และหนุนให้กองทุนลดสถานะเงินสดและซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในพอร์ตช่วงเวลาที่เหลือของปี (ซึ่งมีกระแสข่าวว่าอาจ นำเข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า)
อีกทั้งมีกระแสการฟื้น กองทุนรวมวายุภักษ์ แบบการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ เพื่อพยุงตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 2 โครงการหากเกิดขึ้นจริง และมีผลบังคับใช้เร็ว ก็จะยิ่งเป็นแรงพยุงให้ SET สามารถขยับขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุปมาตรการภาครัฐฯ เตรียมเข้ามาในช่วงที่เหลือของปี ทั้งโครงการ DIGITAL WALLET และกองทุน THAIESG/วายุภักษ์ ลุ้นเป็นปัจจัยเร่งให้เม็ดเงินทยอยไหลเข้าหุ้ไทยระยะถัดไป และพยุง SET ยืนเหนือ 1350 จุด ได้ไม่ยาก ส่วนวันนี้คาดกรอบการเคลื่อนไหวของ SET 1,323-1,333 จุด
ยเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะฟื้นตัวและหนุนให้ GDP ปี 2567 เติบโต 2.8% หลังปัจจัยกดดันเชิงวัฏจักรได้คลี่คลายลงไป
ทั้งการล่าช้าของงบประมาณภาครัฐฯ และการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่ทำให้ภาวะการส่งออกสินค้าหดตัวในปีที่ผ่านมา ขณะที่แรงส่งจากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวยังคงคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนและรายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะอยู่ที่ 36 ล้านคน และ 1.6 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาและจะมีส่วนช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาวะปกติในช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาด อีกทั้งจะยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยต่อไป แม้ว่าจะชะลอลงจากปีที่ผ่านมาก็ตาม
ด้านการลงทุนภาคเอกชนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังช้าและมีความเสี่ยงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อีกทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังเหลืออยู่อีกมาก
ขณะที่ภาพของอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางเร่งตัวขึ้นจากช่วงก่อน แม้จะแผ่วลงไปบ้างในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนที่หดตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2566 โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้คาดว่าแนวโน้มในระยะข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อจะเป็นบวกต่อเนื่อง และทยอยเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
สำหรับมุมมองนโยบายการเงิน คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 2.50% ในปีนี้ จากเดิมที่มองว่าจะลดได้ 1 ครั้งในช่วงปลายปี เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อกำลังเร่งตัว และปัจจัยกดดันเชิงวัฏจักรได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว
อีกทั้ง กนง.ก็เน้นย้ำค่อนข้างหนักแน่นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม เป็นกลาง และไม่ขัดขวางการขยายตัวกลับสู่ระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า รวมถึงยังช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม.
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่