ในยุคที่ “ความยั่งยืน” ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการต่างให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงหลัก ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ และความมั่นคงในระยะยาวด้วย
ปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทสัญชาติไทย ติดอันดับ “Gold Class” มากที่สุดในโลก ในรายงาน “2023 Sustainability Yearbook” ของ S&P Global ซึ่งเป็นรายงานที่จะประเมินและจัดอันดับบริษัทตามความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
โดย 5 อันดับแรก ประเทศที่มีบริษัทติด Gold Class จำนวนมากที่สุด คือ ประเทศไทย จำนวน 12 บริษัท ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา จำนวน 11 บริษัท รองลงมาคือ ไต้หวันและอิตาลี จำนวน 7 บริษัท แสดงให้เห็นว่า ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนมากที่สุดในโลก
ทั้งนี้ จากรายงาน “2023 Sustainability Yearbook” พบว่ามีบริษัทสัญชาติไทย จำนวนถึง 12 บริษัท ที่ติด Gold Class แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน จำนวน 11 บริษัท และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 1 บริษัท ดังนี้
1.บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC - ธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่มุ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรในประเทศไทย
2.บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC - เจ้าของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ “บิ๊กซี” และธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ กลุ่มอุปโภคบริโภค และกลุ่มเวชภัณฑ์และทางเทคนิค
3.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS - ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า “บีทีเอส” และธุรกิจมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนและสื่อโฆษณา
4.บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO - จำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ตกแต่ง ต่อเติม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคาร บ้าน และที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร ภายใต้แบรนด์ “โฮมโปร”
5.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC - ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ ด้วยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ของกลุ่ม ปตท.
6.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC - ธุรกิจการลงทุน (Holding company) ใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง
7.บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP - ธุรกิจการลงทุน (Holding company) บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
8.บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP - ผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
9.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE - ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม บริการด้านดิจิทัลครบวงจร
10.บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU - ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง และขยายธุรกิจให้ครบวงจรด้วยธุรกิจอาหารสำเร็จรูปและอาหารว่าง โดยเน้นอาหารทะเล
11.บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI - ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล และธุรกิจโลจิสติกส์
12.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “กลุ่มบริษัทไทยเบฟ” - บริษัทเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วย 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร
“Sustainability Yearbook S&P Global” เป็นรายงานประจำปีที่จัดทำโดย S&P Global ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก รายงานนี้จะประเมินและจัดอันดับบริษัทต่างๆ ตามความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการประเมินที่ครอบคลุมหลายด้าน อาทิ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ทั้งนี้ 2023 Sustainability Yearbook S&P Global เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ สามารถเข้าใจและประเมินความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยบริษัทที่ได้รับการประเมินและทำคะแนนได้สูงในด้านความยั่งยืน จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มต่างๆ หรือที่เรียกว่า "Class" ซึ่งมีการแบ่งคลาสตามความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น Gold Class, Silver Class, Bronze Class และ Industry Mover
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้