ผ่านไปแล้วสำหรับรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประจำไตรมาส 4/66 ซึ่งพบว่ามีหลายบริษัทรายงานกำไรสุทธิลดลงจากช่วงไตรมาสก่อน โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน เป็นผลให้ดัชนีช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของการรายงานงบการเงินผันผวนอย่างหนัก
ขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาส 1/67 นักลงทุนต่างติดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย การการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น และเป็นความหวังของการลงทุนในปี 2567 หรือไม่
วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยกับ “Thairath Money” ว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ.) พบว่ารายงานออกมาแล้ว 490 บริษัท หรือคิดเป็น 87% Market Capitalization ของตลาดหุ้นไทย มีกำไรสุทธิรวมกันที่ 1.98 แสนล้านบาท เติบโต 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 23% จากไตรมาสก่อน
โดยการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แรงหนุนจากหลายๆอุตสาหกรรม ยกเว้นเพียงวัสดุก่อสร้าง การเงิน ประกัน บรรจุภัณฑ์ สำหรับการลดลงจากไตรมาสก่อน เป็นเพราะกลุ่มพลังงานตามกำไรกลุ่มโรงกลั่นที่ฐานสูงพิเศษในไตรมาส 3/66 แต่หากไม่รวมกำไรในพลังงาน ปิโตรเคมี อาหาร และกลุ่มสื่อสาร กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1.24 แสนล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อน และเติบโต 14% จากไตรมาสก่อน ได้แรงหนุนจากกลุ่มค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสื่อ กลุ่มขนส่ง ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่เติบโตจากการบริโภคและการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4/66
ขณะที่หลังจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 4/66 พบว่า Bloomberg Consensus ปรับเพิ่มกำไรดัชนีปี 24 สู่ระดับ 95 บาท/หุ้น จากก่อนหน้าอยู่ที่ 80 บาท/หุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นมีความน่าสนใจ ผ่าน Earnings Yield Gap กลับขึ้นมาเกินกว่าค่าเฉลี่ย และในอีกมุมนึงช่วยจำกัด Downside ของตลาดหุ้นไทยและหากมีปัจจัยบวกก็จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นได้ง่ายมากขึ้น
สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย Bloomberg Consensus มีคาดการณ์ทั้งหมด 121 บริษัท (ไม่นับรวมบริษัทที่มีผลขาดทุน) พบว่า 40 บริษัทรายงานกำไรสุทธิดีกว่า Bloomberg Consensus คาดการณ์ (มากกว่า 10%) หรือคิดเป็น 33% และต่ำกว่าคาดการณ์ (น้อยกว่า -10%) อยู่ที่ 29 บริษัทหรือคิดเป็น 24% ส่วนเป็นไปตามคาดการณ์อยู่ที่ 52 บริษัท คิดเป็น 43% เท่ากับว่าผลประกอบการในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีเล็กน้อยถึงดี เพราะส่วนใหญ่ออกมาตามคาดหรือดีกว่าคาด
โดยกลุ่มที่ผลประกอบการดีกว่าคาดในเบื้องต้นได้แก่ สายการบิน (AAV) ค้าปลีก (CPAXT CPALL DOHOME GLOBAL KISS) อาหารและสัตว์เลี้ยง (AAI GFPT) อสังหา (LH) ร้านอาหาร (M) โรงภาพยนตร์ (MAJOR) ธนาคารพาณิชย์ (SCB) การเงิน (AMANAH, HENG)
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 1/67 ประเมินว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีก่อน ได้แรงหนุนจากมาตรการ E-Receive ประกอบกับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 1 ม.ค.-25 ก.พ. อยู่ที่ 5.9 ล้านคน โต 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเป็นปัจจัยหนุนกลุ่มค้าปลีก สนามบิน และโรงแรม ซึ่งมองกลุ่มข้างต้นเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ
ด้าน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงโค้งสุดท้ายของการประกาศงบการเงินงวดปี 2566 ผันผวนมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากตัวเลขกำไรที่ต่ำกว่าคาด นำมาซึ่งการปรับลดประมาณการกำไรในงวดปี 2567
ทั้งนี้ หากติดตามจากตัวเลข Bloomberg Consensus พบว่ายังเห็นการปรับลดคงของกำไรต่อหุ้น (EPS) ต่อเนี่อง เราประเมินว่าเป็นไปได้ที่จะเห็นการจบลงที่บริเวณ 92-93 บาท/หุ้น เทียบกับความคาดหวังช่วงต้นปี 2567 ที่สูงกว่า 100 บาท/หุ้น
ส่วนปัจจัยแวดล้อมอื่นในช่วงเวลานี้ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม เห็นว่ายังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้น จนกว่าจะเข้าช่วงเดือนเมษายน 2567 น่าจะเห็นสัญญาณบวกจากหลายปัจจัยหนุน ไม่ว่าจะเป็น การเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณฯ, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้ได้เต็มที่มากขึ้น, โอกาสที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. รวมถึงแรงกดดันจากการปรับลดประมาณการที่หมดลงไปโดยยังต้องอดทบกับภาวะตลาดช่วงนี้ ก่อนจะดูดีในเดือนเมษายน
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้