บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น THAI ประกาศลุยปรับโครงสร้างตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อทำส่วนของทุนให้กลับเป็นบวกภายในปี 2567 พร้อมเตรียมยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จ่อเสนอแผนธุรกิจในช่วงครึ่งแรกปีนี้ คาดนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2568
ล่าสุด บริษัทรายงานกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 20,345 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 17,648 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 9.32 บาท สูงกว่าปีก่อน 8.08 บาทต่อหุ้น ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 152,455 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 54,941 ล้านบาท หรือเติบโต 56.3% โดยรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น หลังปีนี้ได้กลับมาให้บริการในเส้นทางสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งจากการประกาศเปิดประเทศ และเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินยอดนิยม พร้อมได้เริ่มให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ และเส้นทางภูมิภาคทดแทนสายการบินไทยสมายล์
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากทิศทางผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีแผนทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวกภายในปลายปี 2567 เพื่อนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟู โดยอยู่ระหว่างจัดทำไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าบริษัทจะสามารถดำเนินออกจากแผนครึ่งแรกปี 2568 และนำหุ้น THAI กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ต่อไป
ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจที่ชัดเจนเพื่อเสนอต่อเจ้าหนี้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งแนวโน้มผลประกอบการในปี 2567 คาดว่าจะยังออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยคาดว่ารายได้รวมปีนี้จะใกล้เคียงกับ 2562 ก่อนช่วงโควิด-19 จากแผนการเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 79 ลำ จากปัจจุบัน 70 ลำ โดยจะมีการส่งมอบเพิ่มเติมจากเช่าดำเนินการ แม้รายได้จากค่าโดยสารจะลดลงจากการแข่งขันเพิ่มขึ้น ขณะที่ยังต้องติดตามราคาน้ำมันเครื่องบิน ที่ยังทรงตัวในระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวนสูง
อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมีกระแสเงินสดปัจจุบันที่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่า ณ สิ้นปี 2567 จะมีระดับที่มากกว่านี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเริ่มจ่ายคืนหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ในปีนี้ เฉลี่ยปีละราว 1 หมื่นล้านบาท รวม 12 ปี เป็นมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท รวมดอกเบี้ย ได้แก่ หนี้บัตรโดยสาร เงินกู้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า ซึ่งที่ผ่านมาหลายกลุ่มได้ดำเนินการชำระหมดแล้วตามแผน
ด้าน ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ในฐานะคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า เราพยายามทำทุกวิธีทางที่เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น พยายามหาอากาศยานที่เหมาะสม และทันสมัยมาเพิ่มในฝูงบิน รวมถึงได้รับไทยสไมล์เข้ามาและสามารถมีอัตราการใช้เครื่องบินของไทยสไมล์ได้ถึง 12-13 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น ทำให้เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ถือเป็นจังหวะดีที่มีการประเทศเปิด ขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายเป็น Aviation Hub ตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี และการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ พร้อมสนับสนุนรัฐให้เป็นศูนย์กลางการบินด้วย
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า เหตุผลของการต้องมีการจัดหาเครื่องบินใหม่ จากเครื่องบินหลายลำเริ่มมีอายุมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว จากปัจจุบันมีจำนวน 70 ลำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นยังถือเป็นฝูงบินที่เล็กมาก แต่มีลูกค้าที่ต้องการมาประเทศไทยเยอะมาก ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายการบิน เพื่อรองรับการบินในบางพื้นที่เพิ่มเติม
ขณะที่ ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยมีแผนขยายฝูงบินเพิ่มในปี 2570-2576 โดยจะเป็นจัดหาจำนวน 45 ลำ ซึ่งจะทำให้จำนวนฝูงบินรวมจะอยู่ที่ 96 ลำ ขณะเดียวกันมีทางเลือกในการจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ลำ ซึ่งรอความชัดเจนว่าจะเป็นการจัดหารูปแบบใด
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 30-35% จากปัจจุบันที่ 21% ซึ่งหากเทียบอุตสาหกรรมในฐานะสายการบินเจ้าบ้าน แทบจะต่ำที่สุดในโลก ถ้าเราไม่สร้างส่วนแบ่งการตลาดขึ้นมา ก็จะไม่สามารถที่จะพลิกฟื้นองค์กรได้ และหากสายการบินเจ้าบ้านไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ การจะเป็นศูนย์กลางการบินของประเทศไทย ก็จะยากขึ้น นอกเสียจากจะไปพึ่งพาสายการบินต่างชาติ
นอกจากนี้ บริษัทได้มีการพูดคุยกับสายการบิน Qatar เพื่อร่วมกันช่วยสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และได้บรรลุข้อตกลงบางประการแล้ว โดยจะมีการเผยแพร่เร็วๆ นี้ว่า จะมีความร่วมมืออะไรบ้างกับ Qatar โดยมองว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือครั้งนี้ทุกฝ่าย
“เรื่องฝูงบินใหม่ เราเดินตามกรอบยุทธศาสตร์ ซึ่งระบุไว้ในแผนฟื้นฟูและแผนธุรกิจ ที่ผ่านมามาร์เก็ตแชร์เราลดลงโดยตลอด แต่เนื่องจากเราปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เราก็กลับมาโตอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อทวงคืนส่วนแบ่งการตลาด” ผู้บริหารการบินไทย กล่าว
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดหาเครื่องบินเป็นข้อตกลงแบบการจองสล็อตในการผลิต บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจว่าวิธีได้มาซึ่งเครื่องบินทั้งหมดนั้นจะเป็นวิธีใด โดยต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาแหล่งเงินทุน เงินสด หรือการเช่า ซึ่งเงื่อนไขการพิจารณามีความยืดหยุ่น
ทั้งนี้ บริษัทได้พิจารณาการเพิ่มฝูงบินจากความต้องการทางธุรกิจ และมีการเจรจาโดยตรงดีลตรงกับผู้ผลิตเครื่องบินและผู้ผลิตเครื่องยนต์ โดยให้ความมั่นใจว่า มีความโปร่งใส และไม่มีค่าคอมมิชชันอย่างที่ถูกกล่าวหา และจะเป็นประโยชน์ต่อการบินไทยทั้งสิ้น
ขณะที่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเพิ่มฝูงบินนั้น ไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่อง บริษัทมีความสามารถเพียงพอที่จัดหาเครื่องบินได้ และหากดูจากฐานะการเงินปัจจุบัน และประมาณการผลประกอบการ สำหรับแผนการจัดหาเครื่องบิน 45 ลำนั้น เราซื้อเป็นเงินสดได้เลย ซึ่งเงินส่วนใหญ่เป็นการทยอย และจ่ายก่อนการรับเครื่องบิน แต่บริษัทยังมีทางเลือกว่าจะเป็นการเช่าดำเนินการหรือกู้เงินจากสถาบัน
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้