ความเคลื่อนไหวการเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของหุ้น ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เจอแรงขายกดดันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เปิดการซื้อขาย 27.50 บาท ปรับตัวลดลงจากราคาจองซื้อ 29 บาท หรือลดลง 5%
โดย กนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เปิดเผยว่า การเข้าทำการซื้อขายของธนาคารไทยเครดิตครั้งแรกนั้น การปรับตัวลดลงจากราคาจองซื้อ มองว่าเกิดจากปัจจัยตลาดที่เข้ากดดัน ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวต่ำกว่าราคาจองซื้อ
ทั้งนี้ ในคำถามถึงการตั้งราคาของธนาคารไทยเครดิตนั้นแพงไปหรือไม่ ในมุมของที่ปรึกษาทางการเงิน เรามองว่าเป็นราคาที่เหมาะสม โดยการตั้งราคาของ ไทยเครดิต คิดเป็น P/BV ที่ 1.9 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มธนาคารที่ 0.7-1.8 เท่า ในขณะที่กลุ่มนอนแบงก์ อยู่ที่ 2.6-3 เท่า ซึ่งการตั้งราคาของธนาคารไทยเครดิตนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างหุ้นธนาคาร และหุ้นกลุ่มนอนแบงก์
โดยวิธีการทำธุรกิจของธนาคารไทยเครดิต มีวิธีการที่แตกต่างโดยการระดมทุนของไทยเครดิต จะเป็นรูปแบบการรับเงินฝาก ส่วนการทำธุรกิจนั้นเป็นการปล่อยสินเชื่อแบบนอนแบงก์ ทำให้ธนาคารไทยเครดิต มีส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงกว่า และมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ
ดังนั้นในภาพการเติบโตในระยะยาวของ CREDIT นั้นจะเป็นหุ้นที่เติบโตสูง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารสามารถรักษาการเติบโตได้ในระดับ 20-30% มาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตเรามองว่าน่าจะรักษาการเติบโตในระดับดังกล่าวได้
วิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นอาจเกิดภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ในฝั่งผลการดำเนินงานของธนาคาร เรายังมั่นใจว่า จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการที่แบบในอดีตที่เติบโตได้ในระดับ 20-30% ต่อปี
CREDIT ยังโตได้
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ประเมินว่า CREDIT เต็มไปด้วยประสบการณ์และความเข้าใจตลาดสินเชื่อรายย่อย ธนาคารดำเนินธุรกิจด้วยความเชื่อที่ว่ายังมีผู้ประกอบการเป้าหมายอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางได้ จึงต้องหันไปพึ่งพาช่องทางการกู้ยืมเงินนอกระบบ โดยสินเชื่อที่เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต คือ สินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี (MSME) และจากข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการและลูกค้ารายย่อย ทำให้ CREDIT เป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญที่มีการเติบโตสูงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย โดยธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้กลไกการค้ำประกันของ บสย. มาลดความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ
มาตรการแก้หนี้นอกระบบเป็นผลดีต่อ CREDIT
มาตรการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลจะช่วยดึงลูกหนี้ที่มีข้อจำกัดและความเสี่ยงสูงเข้ามาในระบบได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นผลดีต่อ CREDIT เนื่องจากลูกค้ารายย่อยเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคาร ขณะที่แนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้
รายได้เติบโตตามการขยายตัวของสินเชื่อ
คาดรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิเติบโต ตามการขยายตัวในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคาร โดยเฉพาะสินเชื่อ Nano และ Micro finance ซึ่งคาดว่าจะสามารถเติบโตต่อเนื่องได้อย่างน้อยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจหลังโควิด-19 ทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในระยะสั้น และระยะยาวจะโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่มองว่า NIM ผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน เป็นต้นมา แต่ NIM ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ราวร้อยละ 8
กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
คาดกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้ที่ขยายตัว NIM ที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งต้นทุนดำเนินงานและต้นทุนเครดิตลดลง ซึ่งธนาคารมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราส่วนต้นทุนการดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ในส่วนของพนักงาน ประกอบกับมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
การเข้ามาระดมทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของ CREDIT ในครั้งนี้มีความเหมาะสม และมีปัจจัยติดตามต่อ คือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อในอนาคต
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้