นานมาแล้วสำหรับตลาดหุ้น ไม่มีหุ้นไอพีโอในกลุ่มธนาคารเข้าระดมทุน จนกระทั่งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่จะถึงนี้ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT ธุรกิจธนาคารที่กำลังจะเข้าตลาดหุ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี หลังจากการเข้าระดมทุนของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (LHFG) ที่เข้าจดทะเบียนในปี 2554 ทำให้การเข้าไอพีโอของ CREDIT ในครั้งนี้ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ
ว่ากันตามตรง “ธนาคารไทยเครดิต” ไม่ใช่ชื่อใหม่ในแวดวงธนาคาร โดยก่อนหน้านี้ใช้ชื่อ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบธุรกิจมากว่า 17 ปี โดยปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อย หรือพ่อค้าแม่ค้าเป็นหลัก ต่อมา ธนาคารได้รับใบอนุญาตเป็นธนาคารพาณิชย์จากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ และเริ่มดำเนินการ ภายใต้ชื่อ “ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน)”
ไทยเครดิต คู่แข่งสำคัญของ “หนี้นอกระบบ”
จุดเด่นของธนาคารไทยเครดิต คือ เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ (Micro and Nano Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้เท่าที่ควร โดยตลาด Micro SME มีจำนวนมากถึง 3.2 ล้านราย และมีขนาดเล็กมากๆ พนักงานไม่เกิน 5 คน แต่จุดเด่นสำคัญ คือ ช่วยผลักดัน GDP สำหรับปี 2565 ได้มากถึง 35% และสร้างการจ้างงานรวมในปี 2565ที่สูงถึง 72% ของแรงงานทั่วประเทศ จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน
ส่วนกลุ่มลูกค้าที่ไทยเครดิตโฟกัส คือ กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้เป็นรายวัน อาทิ พ่อค้า แม่ค้า เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กทั่วไป ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ จึงต้องพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง จนต้องติด “กับดักหนี้” และไม่สามารถหลุดพ้นได้ และด้วยเหตุนี้เอง “ไทยเครดิต” ได้มองเห็นถึงโอกาสดังกล่าว จึงได้เดินหน้าเข้าไปเจาะตลาด ส่วนวิธีการทำธุรกิจได้มีการใช้กลยุทธ์ส่งพนักงานลงไปในพื้นที่ ทำความรู้จัก และประเมินความเสี่ยงของลูกค้า
ทั้งนี้พนักงานของไทยเครดิต จะทำหน้าที่สังเกตการณ์การค้าขาย โดยมองในแง่ธุรกิจว่ามีกระแสเงินสดดีหรือไม่ มากกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน และปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าหนี้นอกระบบ ทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยให้กลุ่มพ่อค้า แม่ค้าเข้าถึงสินเชื่อเพื่อช่วยประกอบธุรกิจได้แล้ว ยังช่วยลดปัญหาความรุนแรงจากหนี้นอกระบบ และลดหนี้ได้อย่างยั่งยืน
โมเดลธุรกิจเติบโตสูง
ด้วยโมเดลธุรกิจของไทยเครดิตมีความแตกต่าง คือ อยู่ในเกณฑ์การกำกับดูแลเหมือนธนาคารพาณิชย์ ที่มีข้อได้เปรียบสามารถรับฝากเงินได้ แต่ทำธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายคล้ายกับ Non-Bank ทำให้ไทยเครดิตมีการเติบโตที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารเติบโตกว่า 8 เท่าตัว และเป็นผู้ที่มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE อยู่ที่ 21.8% (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 66) จึงถือได้ว่าสูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร และ Non-Bank
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเติบโตที่ดี แต่ไทยเครดิตยังไม่หยุดนิ่ง โดยธนาคารกำลังเดินหน้าทำดิจิทัลแอปพลิเคชัน ทั้งแอปพลิเคชัน ไมโครเพย์ อี-วอลเล็ต โดยที่ลูกค้าสามารถรับเงิน จ่ายเงิน กู้เงิน และจ่ายค่างวดได้ ทำให้พนักงานสินเชื่อดูแลลูกค้าได้ดีขึ้น โดยตอนนี้มียอดดาวน์โหลดกว่า 4 แสนราย มีเงินธุรกรรมเข้าออกกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 66)
นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “alpha by Thai Credit” โมบายแบงกิ้ง ที่จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเงินฝากที่จะสามารถใช้บริการฝากและถอนเงินสดผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องไปที่สาขา ซึ่งตรงจุดนี้เองสามารถช่วยลดต้นทุนในฝั่งของการระดมเงินฝากอีกด้วย
ระดมทุนเพื่อขยายพอร์ต
อย่างไรก็ตาม ไทยเครดิตกำลังจะก้าวเป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น ช่วงราคาไอพีโอ 28-29 บาทต่อหุ้น
โดยหุ้นสามัญที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยธนาคารฯ จำนวนไม่เกิน 64,705,890 หุ้น 2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 282,323,232 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นไม่เกิน 28.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO
อย่างไรก็ตามการเข้าระดมทุนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ และปรับปรุง พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) โดยที่ CREDIT จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการลงทุนระยะยาวสำหรับ “นักลงทุน” ที่มุ่งหาผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทที่เติบโตสูงควบคู่ไปกับการแก้ไขหนี้นอกระบบไปพร้อมๆ กัน
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ
ที่มา
- แบบแสดงไฟลิ่ง
- งานโรดโชว์พบนักลงทุนของธนาคารไทยเครดิต