จับตา ปรับ 5 บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ ท่ามกลางวิกฤติความเชื่อมั่น ปัญหาอะไรรอให้แก้บ้าง

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตา ปรับ 5 บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ ท่ามกลางวิกฤติความเชื่อมั่น ปัญหาอะไรรอให้แก้บ้าง

Date Time: 25 ม.ค. 2567 12:53 น.

Video

“โกษาปาน ดิสติลเลอรี่” สุรากลั่นเชื่อมวัฒนธรรม | BrandStory Special EP x เมรัยไทยแลนด์

Summary

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับโฉมคณะกรรมการใหม่แทนคนเดิมที่หมดวาระ "Thairath Money" ชวนส่องประวัติการทำงาน พร้อมเรื่องท้าทายสำหรับคณะกรรมการชุดใหม่ที่รอแก้ไข ท่ามกลางวิกฤติความเชื่อมั่นของนักลงทุน

Latest


ท่ามกลางวิกฤติความเชื่อมั่นของนักลงทุน สะท้อนจากมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทยที่เบาบาง พร้อมกับการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาเฉพาะตัวของบางบริษัทจดทะเบียนก็สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างไม่แพ้กัน เป็นที่น่าจับตาว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะเรียกคืนฟื้นความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้หรือไม่


ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับโฉมคณะกรรมการใหม่ เมื่อต้นปี 2567 จากโครงสร้างปัจจุบันของคณะกรรมการที่มีจำนวนทั้งหมด 11 คน ได้แก่ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. จำนวน 6 คน, บุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งจากบริษัทสมาชิก จำนวน 4 คน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 1 คน


โดยมีการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.ใหม่ จำนวน 3 คน เพื่อแทนคนเดิมที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ได้แก่ นายคมกฤช เกียรติดุริยกุล, นายพิชัย ชุณหวชิร และนายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ โดยจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป


ขณะที่ฝั่งบริษัทสมาชิกมีมติเลือก ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ให้เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ แทนนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง และมีมติเลือก นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่ออีกวาระหนึ่ง โดยทั้ง 2 คนจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567

ส่อง 5 บอร์ด ตลท.โฉมใหม่


การแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. จำนวน 3 คน


1. นายคมกฤช เกียรติดุริยกุล ปัจจุบันเป็น กรรมการและทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำปรึกษาทางธุรกิจ (M&A การปรับโครงสร้าง) และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย


2. นายพิชัย ชุณหวชิร ปัจจุบันเป็น ประธานกรรมการ (กรรมการอิสระ) และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และได้รับการแต่งตั้งจากให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดย “เศรษฐา ทวีสิน” 


ทั้งนี้ พิชัย เคยดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) และกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


3. นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ ปัจจุบันเป็น ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย และเป็นกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และกรรมการ บจ. ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล


การเลือกตั้งจากบริษัทสมาชิก จำนวน 2 คน


1. ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ปัจจุบันเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำหลายแห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) และบริษัทหลักทรัพย์ ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด


2. นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย ปัจจุบันเป็น กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกันยังมีตำแหน่งอื่นที่สำคัญที่ตลาดทุนอีกมากมาย เช่น รองประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ, นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และกรรมการ บมจ.ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)


ปัญหารอให้แก้..ฟื้นเสน่ห์ตลาดหุ้นไทย


ในช่วงที่ผ่านมา มีประเด็นมากมายเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย สร้างความบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างมาก นักลงทุนต่างจับตาแนวทางการจัดการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าจะมีทางออกอย่างไร ขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปีก่อนให้ผลตอบแทนติดลบ จนหลายคนตั้งคำถามว่า “หุ้นไทยหมดเสน่ห์แล้วหรือไม่”


ฟันด์โฟลว์หาย..มูลค่าซื้อขายต่ำ


ปัจจุบันมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำและเบาบางลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับอดีต แม้ความหวังจากการตั้งกองทุน Thailand ESG เมื่อช่วงปลายปีก่อน อาจเข้ามาช่วยหนุนการซื้อขายหุ้นไทยให้คึกคักมากขึ้น ด้วยเป้าหมายเม็ดเงินระดมทุนระดับหมื่นล้านบาท ก็อาจไม่สมความคาดหมายเท่าไรนัก


ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็เทขายหุ้นไทยอย่างหนัก นับจากต้นปี ถึง 23 มกราคม 2567 มีการขายสุทธิกว่า 23,297.57 ล้านบาท ต่อเนื่องจากปี 2566 ที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 196,461.78 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52.30% ของมูลค่าซื้อขายรวม 


หุ้นร้อน..บั่นทอนความเชื่อมั่น


ปัญหาที่รอตลาดหลักทรัพย์แก้ไข อาจเป็นการปิดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริตในตลาดทุน อย่างกรณี “ปล้นโบรกเกอร์” ของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น MORE ที่สร้างความเสียหายอย่างมากโดยเฉพาะกับบริษัทหลักทรัพย์ ทำให้หลายแห่งต้องตั้งเงินสำรองเป็นจำนวนมาก บางแห่งถึงกับปิดตัวลง ซึ่งนักลงทุนรายย่อยต่างก็เสียหายไปตามๆ กันจากราคาหุ้นที่ผันผวนอย่างหนัก


หรือกรณีทุจริตใน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น STARK จากการร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้างทั้งออเดอร์และลูกหนี้ปลอม แถมมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กรมสรรพากรเพื่อความแนบเนียน ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในตลาดหุ้นและตลาดหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมา


โรบอตเทรดเอาเปรียบรายย่อย..Naked Short ไม่กระจ่าง


ประเด็นการใช้โรบอตเทรด โดยเฉพาะระบบ High Frequency Trading (HFT) ระบบการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนระยะสั้น หรือนักลงทุนที่มีการซื้อขายหุ้นเพื่อเก็งกำไรรายวัน หลังมีความกังวลว่าระบบดังกล่าว จะเข้ามาช่วงชิงความได้เปรียบด้านระยะเวลาในการซื้อขายหุ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยออกมาบอกว่า มูลค่าซื้อขายของระบบ HFT มีผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยจำกัด จากมีสัดส่วนน้อย พร้อมกันนี้ยังมีแนวทางพัฒนาเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น จากกระแสของ AI นั้น ถือเป็นเทรนด์ของโลก


ส่วนการทำ “Naked Short Selling” นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงว่ามีการทำธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับตลาดหุ้นไทย แม้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกมาชี้แจงหลายครั้งว่าไม่พบการกระทำดังกล่าว แต่นักลงทุนยังไม่เกิดเชื่อมั่น ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนบางแห่งยังเดินหน้าตรวจสอบกรณีมีเหตุสงสัย หลังพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาจมีการ Naked Short Selling หุ้นของตน  


โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะต้องเข้าสางปัญหาที่สะสมเหล่านี้ รวมถึงการคัดสรร ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ คนใหม่ ที่จะหมดวาระในช่วงกลางปีนี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ