หุ้นไอพีโอในปัจจุบัน ถือได้ว่าสร้างความกังวลให้นักลงทุนอย่างหนัก จากราคาในการเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์นั้น ทำราคาต่ำกว่าราคาจองซื้อติดต่อกันหลายบริษัท ท่ามกลางสถานการณ์ของภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ผันผวน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายสำนักมองว่ากำลังอยู่ในช่วง “ขาลง”
จากข้อมูลการเข้าซื้อขายวันแรกของหุ้นไอพีโอหุ้นย้อนหลัง พบว่าราคาเปิดต่ำกว่าราคาจองซื้อจำนวนมาก อย่าง บริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น MCA เข้าซื้อขายวันแรกด้วยราคาเปิดตลาดอยู่ที่ 3.00 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ -9.09% จากราคาจองซื้อที่หุ้นละ 3.30 บาท
ขณะที่ บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ORN เข้าซื้อขายวันแรกด้วยราคาเปิดตลาดอยู่ที่ 1.29 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ -13.42% จากราคาจองซื้อที่หุ้นละ 1.49 บาท และบริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น NAM เข้าซื้อขายวันแรกด้วยราคาเปิดตลาดอยู่ที่ 7.40 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ -3.90% จากราคาจองซื้อที่หุ้นละ 1.49 บาท
ล่าสุด (1 พ.ย. 66) บริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ETL เปิดเทรดวันแรกที่ 1.35 บาท ลดลง 0.33 บาท หรือ -19.64% จากราคาจองซื้อ 1.68 บาท ส่วนบริษัท เอส.ซี.แอล.มอเตอร์ พาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SCL ที่ทำการซื้อขายวันแรกวันเดียวกัน เปิดเทรดที่ราคา 1.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.06 บาท หรือ +3.90% จากราคาจองซื้อ 1.54 บาท วันนี้ “Thairath Money” จะพามาเปิดสาเหตุที่ทำให้หุ้นไอพีโอ “ต่ำจอง” ในการเข้าซื้อขายวันแรก
แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยปัจจุบันถือเป็นตลาดหมี (Bear maket) หรือภาวะที่ราคาหุ้นต่ำลงต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกับการตัดสินใจลงทุน โดยมองว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มากกว่าช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณา คือความเหมาะสมของราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทใกล้เคียงกัน หรืออุตสาหกรรมเดียวกัน ว่ามีความเหมาะสม และสมเหตุสมผลหรือไม่
ด้าน ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “Thairath Money” ว่า ส่วนใหญ่หุ้นไอพีโอนั้น จะให้ผลตอบแทนได้ดีในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น แต่ปัจจุบันมองว่าตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง ประกอบกับธุรกิจที่เข้าจดทะเบียนในช่วงนี้ อาจเป็นธุรกิจที่ตลาดมองว่าไม่น่าสนใจ จึงมีโอกาสที่จะทำให้ราคาหุ้น “Underperform” ได้
ขณะเดียวกัน มีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก ทำให้มี Supply เยอะ จากการเร่งเข้าจดทะเบียนเนื่องจากเป็นช่วงโค้งสุดท้ายในการใช้เกณฑ์การจดทะเบียนเดิม ซึ่งปีหน้าเกณฑ์การเข้าไอพีโอจะมีความเข้มข้นขึ้น
สำหรับการตั้งราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอนั้น มองว่าวาณิชธนากร (IB) และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ จะประเมินจากค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งช่วงเวลาในการทำดีลและกำหนดราคาเสนอขายนั้น มีผลต่อความถูก-แพง ของหุ้น เนื่องจากตลาดมีความผันผวนสูง หากค่าเฉลี่ย P/E ของอุตสาหกรรมในตลาดปรับตัวลดลง อาจทำให้การเปรียบเทียบว่าหุ้นมีราคาแพงได้
“ถ้าตอนทำดีลกำหนดราคาเสนอขาย เช่น ถ้าตอนนั้นตลาดเล่นกันที่ P/E ระดับ 25-30 เท่า แต่พอเอาเข้ามาในตลาด P/E ลดลงเฉลี่ยเหลือ 15-20 เท่า ยังไงก็แพง..เพราะของในตลาดถูกลง แต่การตั้งราคาก็แล้วแต่สไตล์ของไอบีแต่ละที่” ณัฐพล กล่าว
เมื่อถามว่าการตั้งราคาเสนอขายในปัจจุบันแพงไปหรือไม่นั้น ณัฐพล มองว่า สำหรับการตั้งราคาเสนอขาย บางครั้งอาจอิงจากความคาดหวังของผลประกอบการในอนาคต ซึ่งความถูก-แพง ของหุ้นขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุน ดังนั้น นักลงทุนจะต้องพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทให้รอบคอบ และดูว่าธุรกิจที่จะลงทุนนั้น ตลาดให้ความสำคัญหรือไม่ เพราะหากตลาดไม่ให้มูลค่าต่อธุรกิจนั้น ก็จะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวราคาหุ้น
พร้อมกันนี้ ยังแนะนำให้ดูความสมเหตุสมผล และความเป็นไปได้ของเป้าหมายผลประกอบการในอนาคตที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้คาดการณ์ไว้ โดยศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนและการรายงานผลประกอบการ เป็นต้น
ในอีกภาพหนึ่งเมื่อวัดจากราคาที่เหมาะสมอาจถูกตั้งคำถามว่าหุ้นนั้นแพงเกินไปหรือไม่ โดยล่าสุด ในบทวิเคราะห์ของหุ้นหลายตัวที่ออกมาพบว่า ราคาไอพีโอ บางตัวสูงกว่าพื้นฐาน หรือ บางตัวก็เสนอขายเต็มมูลค่าที่เหมาะสมแล้ว
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ยังระบุถึงการตั้งราคาเสนอขายของหุ้นไอพีโอ ที่อาจมีราคาแพงเกินไป เช่น บทวิเคราะห์หุ้นของบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ORN บล.ทิสโก้ ประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใน SET ที่มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่ที่ 7.20 เท่า ได้มูลค่าเหมาะสมที่ 1.48 บาท จากราคาจองซื้อที่หุ้นละ 1.49 บาท หรือ
ทั้งนี้ ประเมินความเสี่ยง ได้แก่ 1) การแข่งขันที่สูง 2) ต้นทุนในการพัฒนาโครงการเพิ่มขึ้น 3) การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ เช่น มาตรการ LTV, มาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอน เป็นต้น
ส่วนหุ้นของบริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น NAM บล.ทิสโก้ ประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธีอัตราส่วน P/E เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันในอุตสาหกรรมทั้ง SET และ MAI ที่ 22.4 เท่า ทำให้มองว่าราคา IPO อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
ขณะที่ข้อมูลการเสนอขายที่เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวนของหุ้น NAM มีราคาเสนอขายหุ้นสามัญอยู่ที่ 7.70 บาท บาท คิดเป็นอัตราส่วน P/E 24.81 เท่า