AIS ค่ายมือถือดัง กำไร Q3 8.14 พันล้าน โตสนั่น 35% เน็ตบ้านโตแรง ดันแพ็กเกจพ่วงคอนเทนต์

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

AIS ค่ายมือถือดัง กำไร Q3 8.14 พันล้าน โตสนั่น 35% เน็ตบ้านโตแรง ดันแพ็กเกจพ่วงคอนเทนต์

Date Time: 31 ต.ค. 2566 10:30 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ADVANC หรือ เอไอเอส รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3/66 มีกำไรสุทธิ 8,146 ล้านบาท โต 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน และโต 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น การตัดค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ 3G ครบจำนวน และการรับรู้รายการพิเศษในไตรมาสนี้

Latest


บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ADVANC หรือ เอไอเอส รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3/66 ว่า เอไอเอสมีกำไรสุทธิในไตรมาสนี้ 8,146 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น การตัดค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ 3G ครบจำนวน และการรับรู้รายการพิเศษในไตรมาสนี้


ทั้งนี้ ไตรมาส 3/2566 เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่เผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ รวมถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้เอไอเอสมีรายได้จากการให้บริการหลักอยู่ที่ 34,080 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการเติบโตที่ดีของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร


สำหรับธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยเน้นขยายฐานลูกค้าอย่างมีคุณภาพ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านมีรายได้อยู่ที่ 3,021 ล้านบาท เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 19 และ ร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อน ตามลำดับ จากการขยายการให้บริการไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อตอบรับความต้องการใหม่ ร่วมกับการนำเสนอแพ็กเกจที่เพิ่มมูลค่าผ่านการรวมการขายพ่วงคอนเทนต์ โดยเอไอเอสมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพการให้บริการผ่านการใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของความต้องการผู้บริโภค


ขณะเดียวกัน ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรฟื้นตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ โดยธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร (ไม่รวมบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลูกค้าองค์กร) มีรายได้รวม 1,520 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 20 เทียบกับปีก่อน และร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากความต้องการของลูกค้าองค์กรที่ฟื้นตัวขึ้น หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น และการปิดโครงการขนาดใหญ่ได้ในไตรมาสนี้ กลยุทธ์สำหรับกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรยังคงมุ่งเน้นไปที่การบริการ เชื่อมต่อที่มีอัตรากำไรสูง และบริการเสริม อาทิ คลาวด์โซลูชันอัจฉริยะ และการให้บริการโซลูชัน 5G ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย


ส่วนธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อน จากปัจจัยด้านฤดกูาล แต่เติบโตจากปีก่อนด้วยการมุ่งเน้นสร้างมูลค่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 29,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและการแข่งขันที่คงตัว ประกอบกับกลยุทธ์ซึ่งมุ่งเน้นดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการเสริม (Upsell/Cross-sell) รวมถึงการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม รายได้อ่อนตัวลงเล็กน้อยร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบตามฤดูกาลท่ามกลางความพยายามในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแพ็กเกจอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3/2566 ได้รับผลกระทบจากจำนวนเลขหมายเปิดใหม่ที่น้อยลง ซึ่งมีสาเหตุจากการเพิ่มความเข้มงวดของระบบยืนยันตัวตนในกลุ่มลูกค้าเติมเงิน (Prepaid Identification: PI) ที่กระทบการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการที่เปิดเลขหมายใหม่ ประกอบกับกลยุทธ์การมุ่งเน้นไปที่ผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพสูง ทั้งนี้ในไตรมาส 3/2566 เอไอเอสมีจำนวนเลขหมายการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงสุทธิ 867,000 เลขหมาย หรือลดลงร้อยละ 1.9 จากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อหมายเลข (ARPU) ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตขึ้นเป็น 216 บาท/เลขหมาย/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และจากความพยายามผลักดันการใช้งาน 5G จำนวนผู้ใช้บริการ 5G เพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ล้านเลขหมายในสิ้นไตรมาสนี้

9 เดือนแรกกวาดกำไร 2.2 หมื่นล้านบาท โต 18%


ขณะที่ในรอบ 9 เดือนของปี 2566 เอไอเอสมีรายได้จากการให้บริการหลักอยู่ที่ 101,514 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง และเติบโตร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับปีก่อนจากความพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มต่างๆ ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านยังคงรักษาแนวโน้มการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผ่านการเร่งขยายพื้นที่การให้บริการสู่พื้นที่รอบนอกตัวเมือง และความพยายามในการใช้กลยุทธ์ในการขายร่วมกับบริการเสริมรูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับ ARPU ในขณะที่รายได้จากธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและบริการอื่นๆ เติบโตขึ้นร้อยละ 6.7 เทียบกับปีก่อนตามความต้องการที่กลับมาหลังจากทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ต้นทุนการให้บริการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากต้นทุนโครงข่ายที่สูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและปริมาณการเชื่อมโยงโครงข่ายกับ NT ขณะที่ต้นทุนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายปรับตัวลดลงร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้ค่าเสื่อมตัดจำหน่ายเต็มจำนวนสำหรับทรัพย์สินโครงข่าย 3G ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดปรับตัวลดลงร้อยละ -27 เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้วยความพยายามในการปรับลดแคมเปญและต้นทุนต่างๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการขายและการบริหารปรับลดลงร้อยละ -8.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน


ในรอบ 9 เดือนของปี 2566 กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนตามรายได้จากการให้บริการหลักประกอบกับการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดี โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 22,084 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ต้นทุนค่าเสื่อมราคาที่ลดลง และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ

ตั้งเป้ารายได้บริการปีนี้โต 3-5% วางงบลงทุน 2.7-3 หมื่นล้านบาท


นอกจากนี้ คาดการณ์รายได้การให้บริการหลักเติบโตที่ระดับร้อยละ 3 ถึง 5 ท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนปี 2566 เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่บนความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงในด้านการเมืองภายในประเทศ การเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศทั่วโลก ร่วมกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและส่งผลต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรม


อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้ของประเทศจีนในช่วงต้นปี 2566 ถึงแม้ว่าจะเข้ามาในปริมาณที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งช่วยหนุนการบริโภคภาคเอกชนให้สูงขึ้น เอไอเอสได้วางเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงองค์กรจาก ผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์ (Digital Life Service Provider) สู่ Cognitive Tech-Co ด้วยการพัฒนารากฐานสำคัญ 3 แกน ได้แก่ โครงข่ายอัตโนมัติ (Autonomous Network), ระบบไอทีอัจฉริยะ (IT Intelligence) และ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อผลักดันการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ


ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์งบการลงทุนสำหรับปี 2566 ที่ประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะคงความเป็นผู้นำทางด้านโครงข่ายพร้อมมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าแก่ลูกค้าด้วยการใช้เงินลงทุนอย่างเหมาะสม เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้บริการโครงข่ายที่ดีที่สุดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานของลูกค้าที่เติบโตและมีพื้นที่ความครอบคลุมที่ดีในการให้บริการ นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายเน้นย้ำประสิทธิภาพของเงินลงทุน โดยมีบริหารจัดการเพื่อผลักดันการใช้งานในโครงข่าย 5G ให้มากขึ้น รวมถึงจัดสรรการใช้งานคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการเอไอเอสไฟเบอร์ไปยังพื้นที่ใหม่ รวมถึงการวางแผนขยายธุรกิจลูกค้าองค์กรและการให้บริการทางด้านดิจิทัลที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ