ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SCGP นักลงทุนต่างจับตามองผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาในอินโดนีเซียที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการหยุดซ่อมบํารุงใหญ่โรงงานผลิตเยื่อกระดาษเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทำให้กำลังการผลิตลดลง อาจเป็นแรงกดดันผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/66 หรือไม่
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสทเอกซ์ จํากัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดการณ์กําไรสุทธิไตรมาส 3/66 ของ SCGP อยู่ที่ 1,320 ล้านบาท ลดลง 12.8% จากไตรมาสก่อน เพราะได้รับแรงกดดันจากราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง จากดัชนีชี้วัดที่สําคัญสําหรับราคาส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์จากประเทศในอาเซียนไปจีนลดลง 5% ประกอบกับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบํารุงใหญ่โรงงานผลิตเยื่อกระดาษเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทำให้ปริมาณการผลิตเยื่อกระดาษลดลง 20-30% และมีการบันทึกค่าใช้จ่ายซ่อมบํารุงราว 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากต้นทุนวัตถุดิบ (เศษกระดาษ) และต้นทุนถ่านหินที่ลดลง ซึ่งจะช่วยหนุนให้อัตรากําไรขั้นต้นและ EBITDA margin โดยรวมปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3/66
ขณะเดียวกัน ประเมินพัฒนาการเชิงบวกในไตรมาส 4/66 จากราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% ในเดือน ก.ย. 2566 นอกจากนี้ จีนยังนําเข้ากระดาษบรรจุภัณฑ์เกือบเท่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้วที่ราว 750,000 ตัน/เดือนในไตรมาส 3/66 ปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณบวกสําหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษโดยรวม
ทั้งนี้ ปรับประมาณการกําไรปี 2566 ลดลง 20% และปี 2567 ลดลง 5% เพื่อสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ช้ากว่าคาด และแนวโน้มที่จะมีการปรับงบลงทุนสําหรับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ลดลง โดยปรับฐานที่ใช้ประเมินราคาเป้าหมายเป็นปี 2567 ซึ่งได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 51 บาท และคงเรทติ้ง “OUTPERFORM” สําหรับ SCGP
ด้าน บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า กำไรปกติไตรมาส 3/66 คาดว่าอยู่ที่ 1,368 ล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน และลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 1,500-1,600 ล้านบาท โดยคาดกำไรปกติลดลงหลังถูกกดดันจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษในอินโดนีเซียที่รุนแรงขึ้น ผู้ผลิตรายใหญ่ยังคงมีการผลิตในปริมาณมากเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และเน้นการแข่งขันด้านราคา ทำให้ปริมาณขายโดยรวมลดลงจากปีก่อน ขณะที่การแข่งขันในอินโดนีเซียที่รุนแรงขึ้น ทำให้ปริมาณขายและอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากไตรมาสก่อน ประกอบกับโดนกดดันจากปัจจัยฤดูกาลของธุรกิจ Fibrous Chain
เบื้องต้นคาดกำไรปกติไตรมาส 4/66 ที่ระดับ 1,400-1,500 ล้านบาท ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ปริมาณขายที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากการ Build Stock เพื่อรองรับการบริโภคที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงสิ้นปี และการปรับขึ้นราคาของบริษัทบรรจุภัณฑ์กระดาษในจีนตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3/66 จะทำให้แรงกดดันด้านราคาในภูมิภาคอาเซียนลดลง และหนุนการฟื้นตัวของอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับ 18.0%
พร้อมกันนี้ ปรับลดกำไรปี 2566 ลง 5% เป็น 5,404 ล้านบาท และปรับลดกำไรปี 2567 ลง 15% เป็น 6,149 ล้านบาท เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวที่ช้าและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ขณะที่คาดว่าการฟื้นตัวของราคาหุ้นในระยะสั้น-กลาง จะยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจเวียดนาม และปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอิสราเอล กลุ่มฮามาส และอิหร่าน ประกอบกับการเข้าซื้อหุ้นบริษัทบรรจุภัณฑ์ Fajar ในอินโดนีเซียเพิ่มอีก 44.5% มูลค่าราว 2.3 หมื่นล้านบาท จึงปรับคำแนะนำจาก “ซื้อ” ลงเป็น “TRADING”