5 เหตุการณ์ ตลาดหุ้นไทย “ยุคลุงตู่” จุดสูงสุด-ต่ำสุดในยุคเดียวกัน

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

5 เหตุการณ์ ตลาดหุ้นไทย “ยุคลุงตู่” จุดสูงสุด-ต่ำสุดในยุคเดียวกัน

Date Time: 12 ก.ค. 2566 16:28 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ย้อน 5 เหตุการณ์สำคัญในตลาดหุ้นไทย “ยุคลุงตู่” จุดสูงสุด-ต่ำสุดในยุคเดียวกัน

Latest


ย้อนกลับไปในปี 2557 ความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมืองเริ่มปะทุขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการเข้าควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบโดย "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน


ล่าสุดวันที่ 11 กรกฎาคม พลเอกประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอวางมือทางการเมืองเป็นที่เรียบร้อย


วันนี้ #ThairathMoney จะพาทุกคนไปย้อนรอย 5 เหตุการณ์สำคัญในตลาดหุ้นไทย “ยุคลุงตู่” ทั้งความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ และความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่เคยทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,852.51 จุด และต่ำสุด 969.08 จุด ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา


1.ประกาศยึดอำนาจโดย คสช.


ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ณ ขณะนั้น ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ต่อมาเวลา 16.30 น. พลเอก ประยุทธ์ ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่า ในเดือนพฤษภาคม 2557 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,415.73 จุด เพิ่มขึ้น 0.06% จากเดือนก่อนหน้า โดยในช่วงดังกล่าว มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 41,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 32.2% จากเดือนเมษายน 2557 ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศกลับมาขายสุทธิ ด้วยมูลค่า 35,781 ล้านบาท สาเหตุมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศเป็นหลักที่ในเวลานั้นมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น 


2.จุดสูงสุด และ ต่ำสุด อยู่ในยุคเดียวกัน 

ดัชนีทำจุดสูงสุด 1,852 จุด และจุดต่ำสุด 969.08 จุด

สีสันหนึ่งของตลาดหุ้นในยุค ลุงตู่ คือ ความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้น ที่มีทั้งขึ้นมากสุด และลดลงสุด

โดยในจุดสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ช่วงการซื้อขายระหว่างวัน ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดตลอดกาล หรือ All Time High ที่ 1,852 จุด โดยตลาดหุ้นไทยตอบรับเชิงบวก หลังพลเอกประยุทธ์ประกาศวันเลือกตั้งชัดเจนที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

ส่วนจุดต่ำสุดนั้น เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยได้เผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 จากดัชนีที่เคยทำจุดสูงสุดช่วงนั้นที่ 1,589.34 จุด ดิ่งลงมาในเวลาไม่นาน ทำจุดต่ำสุดที่ 969.08 จุด ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนที่เทขายหุ้นออกมา จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว หรือ Circuit Breaker หลายครั้ง 


3.บริษัทยักษ์ใหญ่เข้าระดมทุนเพียบ


ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการพลิกโฉมไปมากพอสมควร โดยเฉพาะในด้านการระดมทุนที่บริษัทยักษ์ใหญ่เข้าตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง


บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เข้าซื้อขายเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ด้วยราคาเสนอขายไอพีโอหุ้นละ 45 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอราว 9.5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีมูลค่าแตะ 5.33 แสนล้านบาทแล้ว


บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่ของไทย ได้เข้าซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 กำหนดราคาเสนอขายไอพีโอที่ 25 บาท ปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดราว 8.4 หมื่นล้านบาท


บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในเครือของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือเป็นหุ้นไอพีโอที่มีมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับ 1.9 แสนล้านบาท โดยเคาะราคาไอพีโอที่ 6 บาท เข้าซื้อขายวันแรก 10 ตุลาคม 2562


บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กับราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ 18 บาท เข้าซื้อขายวันแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยยอดจองซื้อที่สาขาและช่องทางออนไลน์รวมกว่า 530,000 รายการ และมูลค่าเสนอขายหุ้น OR นับเป็นหุ้นไอพีโอที่มีมูลค่าสูงเป็นลำดับต้นๆ ของตลาดหุ้นไทย


4.TFFIF-IFF เครื่องมือระดมทุนของรัฐ


ย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาลตู่ 1 ที่ในเวลานั้นต้องการพลิกโฉมการระดมทุนของประเทศด้วยการพึ่งพาการระดมทุนผ่านตลาดทุนมากขึ้น ทำให้รัฐบาลเดินหน้าผลักดัน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) และลุยตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) และ ถือเป็นเครื่องมือการระดมทุนของภาครัฐ ด้วยการลงทุนในสิทธิที่จะได้รับรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากเส้นทางในปัจจุบันของทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่ 29 ตุลาคม 2563 


ทั้งนี้ เพื่อนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์สาธารณะในวงกว้างของประเทศไทย เป็นกิจการที่มีความจำเป็นต่อการสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทำให้กองทุนดังกล่าวไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนอย่างที่วางแผนไว้ 


5.ความผิดปกติในตลาดหุ้นไทย


แม้ตลาดหุ้นจะเติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านธรรมาภิบาล ในหลายกรณที่เกิดขึ้น เริ่มที่ปี 2560 หุ้นของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ผู้สอบบัญชีได้มีข้อสังเกตในรายงานงบผลประกอบการปี 2559 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีปัญหาจนถูกพักการซื้อขาย ถัดมาไม่นานก็เกิดปัญหาธรรมาภิบาลในหุ้นของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ทั้งในเรื่องของตลาดหุ้นกู้ และ การเข้าซื้อเหมือง 

ต่อมาในช่วงปลายปี 2565 ก็ได้เกิดเคส บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่ถือว่าเป็นการปล้นเงินโบรกเกอร์ครั้งใหญ่ที่สุดในตลาดทุน

และล่าสุดในปีนี้กับเคส บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีการร่วมกันตกแต่งบัญชีลวงโลก มูลค่าความเสียหายรวมกว่าแสนล้านบาท สร้างบาดแผลให้กับผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นกู้เป็นอย่างมาก


นับเป็น 10 ปีที่เป็นสีสันให้กับการลงทุนกับตลาดหุ้นไทยและต้องติดตามว่าหลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่ ตลาดหุ้นไทยจะถูกนำพาไปในทิศทางไหนได้บ้าง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ