บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD ดำเนินธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วม มีประสบการณ์ดำเนินงานมาแล้วกว่า 50 ปี โดยมีฐานผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และฐานผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย รวมถึงมีช่องทางจัดจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศ
ล่าสุดบริษัทฯ ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมขายไอพีโอ 444.1 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ระดมทุนขยายธุรกิจในระดับอาเซียน ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ การควบรวมกิจการและปรับโครงสร้างเงินทุน
รู้จักหุ้น SCG Decor
นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยว่า ธุรกิจหลักของ SCG Decor แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจตกแต่งพื้นผิวเป็นสัดส่วนรายได้หลักประมาณ 80% โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และส่งออกไปใน 53 ประเทศ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์กระเบื้องไวนิลซึ่งใช้ในตลาดที่อยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์ และยังมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กาวซีเมนต์, กาวยาแนว เป็นต้น ธุรกิจสุขภัณฑ์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 20% และมีอัตรากำไรที่ดี โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำและอุปกรณ์ห้องน้ำในประเทศไทยและส่งออกกว่า 29 ประเทศ และธุรกิจอื่นๆ
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มียอดขายกระเบื้องในปี 2564 คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย 33.0% เวียดนาม 26.4% และฟิลิปปินส์ 16.8% และมียอดขายสุขภัณฑ์คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทย 32.8% อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้นำสุขภัณฑ์อัจฉริยะ ในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยปี 2564 มีมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์รวมกันกว่า 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 180,000 ล้านบาท) และคาดว่าในปี 2565-2569 ภาพรวมอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจะมีอัตราการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสูงกว่าอัตราการเติบโตในประเทศไทย โดยมีปัจจัยจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของเมืองและที่อยู่อาศัย (อ้างอิงจาก Euromonitor)
นอกจากนี้ บริษัทได้วางแผนมุ่งขยายธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพื่อเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมที่ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ได้แก่ การขยายธุรกิจสุขภัณฑ์สู่อาเซียน, ขยายธุรกิจตกแต่งพื้นผิว, ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง, บริหารห่วงโซ่อุปทานทั้งด้านการผลิตและการจัดหาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และวางเป้าหมายให้บริษัทเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ขณะที่ผลการดำเนินงานปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 30,253.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6% จากปี 2564 ที่มีรายได้จากการขาย 25,937.4 ล้านบาท จากยอดขายและปริมาณขายสินค้าของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและธุรกิจสุขภัณฑ์เพิ่มขึ้น ส่วนไตรมาส 1/2566 มีรายได้จากการขาย 7,226.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาส 1/2565 ที่มีรายได้จากการขาย 7,142.8 ล้านบาท จากยอดขายสินค้าธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในประเทศไทย ธุรกิจสุขภัณฑ์และธุรกิจอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น
เสนอขายไอพีโอ 444.1 ล้านหุ้น
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท หลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจาก SCG Decor ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ล่าสุดได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)
โดยปัจจุบัน SCG Decor มีทุนจดทะเบียน 16,550,000,000 บาท คิดเป็นจำนวน 1,655,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยทุนที่ออกและชำระแล้วมีจำนวน 12,109,000,000 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO (ซึ่งรวมถึงการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ COTTO เพื่อแลกหุ้น) จำนวนไม่เกิน 444,100,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 26.8 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้
วัตถุประสงค์การเสนอขายหุ้น IPO เพื่อใช้ขยายธุรกิจ ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ การควบรวมกิจการและปรับโครงสร้างเงินทุน โดยการเสนอขาย IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ SCG Decor จะเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและศักยภาพการขยายธุรกิจในระดับอาเซียน