STARK เปิดปฏิบัติการปล้น อาชญากรรม ตลาดทุน-หายนะตลาดหุ้นไทย

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

STARK เปิดปฏิบัติการปล้น อาชญากรรม ตลาดทุน-หายนะตลาดหุ้นไทย

Date Time: 26 มิ.ย. 2566 05:50 น.

Summary

  • มหกรรมการโกง!! ที่เขย่าขวัญสั่นประสาทตลาดทุนไทยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นกรณีที่เกิดขึ้นกับ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ที่พบว่ามีการ “ทุจริต” ร่วมกันตกแต่งบัญชีสร้างออเดอร์ยอดขายเทียม

Latest

องค์กรตลาดทุน ประกาศยกระดับ “ธรรมาภิบาล” บริษัทจดทะเบียน หวังสร้างความเชื่อมั่นผู้ลงทุน

มหกรรมการโกง!! ที่เขย่าขวัญสั่นประสาทตลาดทุนไทยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นกรณีที่เกิดขึ้นกับ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ที่พบว่ามีการ “ทุจริต” ร่วมกันตกแต่งบัญชีสร้างออเดอร์ยอดขายเทียม ลูกหนี้เก๊ ลูกค้าปลอม แต่มีการไซฟ่อนโอนเงินสดๆออกไปจากบริษัทจริง

กว่าที่ความจริงจะปรากฏ ว่า “มหกรรมลวงโลก” งบการเงินที่อวดกำไรงามๆมาต่อเนื่องหลายปีหลายไตรมาส แท้จริงแล้วกลวงโบ๋ ขาดทุนบักโกรก หลังงบการเงินล่าสุด สิ้นปี 65 ที่ถูกเปิดออกมาพบว่ามีขาดทุนสะสมรวมกันกว่า 10,379 ล้านบาท และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบกว่า 4,403 ล้านบาท มีหนี้สินล้นพ้นตัวเข้าข่ายล้มละลาย!! เงินที่เพิ่งได้จากการเพิ่มทุนและการออกหุ้นกู้ไปสดๆร้อนๆรวมกันกว่า 14,000 ล้านหายหมดเกลี้ยง!!

หายนะเกิดขึ้นกับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นทันที!! สั่นคลอนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยทั้งองคาพยพเกิดมีคำถามขึ้นมากมาย ไปถึงผู้บริหารบริษัท คณะกรรมการ กรรมการตรวจสอบ บริษัทผู้สอบบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)...!?!

เปิดที่มา STARK หุ้นแห่งปี

STARK เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยใช้วิธี Black door listed หลัง “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน จาก บมจ.สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย (SMM) ในช่วงปี 62 จำนวน 2.15 หมื่นล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 60 สตางค์ ทำให้นายวนรัชต์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 95% ของทุนจดทะเบียน (ล่าสุดถือหุ้นเหลือเพียงกว่า 20%) และปรับโครงสร้างโดยนำธุรกิจผลิตและจำหน่วยสายไฟและเคเบิลเข้ามาเป็นธุรกิจหลัก ก่อนเปลี่ยนผู้บริหารและคณะกรรมการทั้งหมดโดยมี “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ขึ้นแท่นเป็นประธานกรรมการ

ขณะที่ “วนรัชต์” นั่งเป็นกรรมการ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น STARK และนับจากนั้น ปี 63 ยาวมาถึง 9 เดือนแรกของปี 65 STARK แจ้งผลดำเนินงานมีกำไรสุทธิมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 63 มีกำไร 1,608 ล้านบาท, ปี 64 กำไร 2,783 ล้านบาท และ 9 เดือนแรก ของปี 65 มีกำไร 2,216 ล้านบาท มีกำไรสะสม 7,849 ล้านบาท โดยมีบริษัท ดีลอยช์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี ผู้สอบบัญชียักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงด้านความน่าเชื่อถือเป็นผู้ตรวจสอบงบการเงิน

จึงเป็นที่มาทำให้บริษัทได้รับความเชื่อมั่น โดย บริษัทได้การจัดอันดับเครดิตจากทริส เรทติ้งระดับ BBB+ สถาบันการเงินให้เงินกู้รวมเกือบหมื่นล้านบาท มีการระดมเงินโดยออกหุ้นกู้ 5 ชุดรวมกว่า 9,200 ล้านบาทและล่าสุดยังเพิ่มทุนขายให้นักลงทุนสถาบันกองทุนต่างๆ 12 ราย ได้เงินไปกว่า 5,000 ล้านบาท (เป้าหมายเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจซื้อหุ้นบริษัทผลิตสายไฟฟ้าที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนี) และยังเป็นหุ้นใหญ่ 1 ใน 100 บริษัท ที่ได้รับเลือกคำนวณดัชนี SET 100 ถือเป็นหุ้น Growth stock ที่โบรกเกอร์หลายสำนัก “เชียร์ซื้อ” ว่าเป็นหุ้นดีมีกำไรเติบโต โดย “จุดขาย” ของบริษัทคือการเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์สายไฟฟ้าระดับโลก และยังถือหุ้นบริษัทผลิตสายไฟฟ้าชั้นนำต่างๆทำให้ STARK ถูกยกให้เป็นบริษัทที่ใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียนและอันดับที่ 14 ของโลก!!

ส่งสัญญาณหายนะ

แต่สัญญาณหายนะเริ่มเกิดขึ้น ในทันทีที่บริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินงวดไตรมาส 4 ปี 65 และงบการเงินงวดรวมทั้งปี 65 เมื่อถึงกำหนดเวลาได้ และขอเลื่อนส่งเป็นระยะๆ ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นป้าย SP ห้ามการซื้อขายหุ้น STARK นับตั้งแต่ 1 มี.ค.66 เป็นต้นมา ขณะที่เดือนถัดมา “ชนินทร์ เย็นสุดใจ”ผู้ล่มหัวจมท้ายกับ “วนรัชต์” มาตั้งแต่เริ่มแรกได้แจ้งลาออก พร้อมกรรมการบริษัท มีการเปลี่ยนตัว CFO และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชีบริษัทและตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแทนทันที โดย “วนรัชต์” ประกาศเข้ามาสังคายนา STARK

เมื่อความเริ่มแตกหายนะเริ่มปรากฏ ผู้ถือหุ้นกู้และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 9,000 ล้านบาท มีมติให้ STARK ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดในทันที ซึ่งแน่นอนว่า STARK ไม่มีปัญญาจ่าย!! ส่งผลให้เกิดการ Default หรือผิดนัดชำระหนี้ในทันทีเช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้

ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตัดสินใจเปิดให้หุ้น STARK กลับมาซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ถึง 30 มิ.ย.) ทันทีที่เปิดให้ซื้อขายวันแรก ราคาหุ้นร่วงลงไปทันที 89% (จากราคาก่อนเปิดซื้อขายอยู่ที่ 2.38 บาท และล่าสุด 23 มิ.ย.66 ราคาหุ้นลงมาอยู่ที่ 0.02 บาท ก่อนที่บริษัทจะแจ้งงบการเงินปี 65 พลิกกลับ มาขาดทุนบักโบรกจนส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ทำให้สถานะของ STARK เป็นหุ้นที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่งบัญชีจากขาดทุนเป็นกำไร

ในที่สุด เมื่อบริษัทแจ้งงบการเงินงวดรวมปี 65 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 16 มิ.ย.66 จึงปรากฏความจริงที่ว่า ปี 64 ที่แจ้งมีกำไร 2,783 ล้านบาทนั้น มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 8,784.2 ล้านบาท เพราะเมื่อแก้ไขใหม่แท้จริงแล้วพลิกกลับมาขาดทุนสุทธิถึง 5,989.3 ล้านบาท ขณะที่ปี 65 พบว่า STARK มีผลขาดทุนสุทธิสูงถึง 6,651 ล้านบาท รวมมีขาดทุนสะสมกว่า 10,379 ล้านบาท และมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวม 6,628 ล้านบาท ทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาทนั่นเอง

จากรายงานผู้สอบบัญชี ที่จัดทำโดย PWC พบข้อผิดพลาดหลายรายการในงบการเงิน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญ เช่น รายได้จากการขายมีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 7,730.6 ล้านบาท เดิมงบปี 64 ระบุว่าอยู่ที่ 25,217.2 ล้านบาท แต่แก้ไขใหม่เป็น 17,486.6 ล้านบาท พบรายการขายผิดปกติ 202 รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาท และ 3,593 ล้านบาท ในปี 65 และปี 64 (ตามลำดับ) มียอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ

โดยมียอดติดลบในระบบสารสนเทศ ของบริษัท จำนวน 3,140 รายการ ขณะที่ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงกว่า 9,264.6 ล้านบาท จากเดิมในงบปี 64 ระบุว่าอยู่ที่ 15,570.8 ล้านบาท แต่แก้ไขใหม่เป็น 6,306.2 ล้านบาท

เปิดสารพัดกลลวง-กลโกง

ทั้งนี้ พบว่าธุรกรรมฉ้อฉลเกือบทั้งหมดนั้นเป็นการทำผ่าน 3 บริษัทย่อยของ STARK นั่นเอง คือ บริษัท เฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL), บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) และบริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) โดยมี การสร้างรายได้และลูกหนี้เทียม

เช่น กรณีบริษัทเฟ้ลปส์ดอด์จ 1.เฟ้ลปส์ดอด์จ มียอดลูกหนี้การค้าคงค้างจำนวนมาก แต่เป็นการออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าจริง ทำให้รับรู้รายได้จากการขายของลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาท ในปี 65 และยังพบรายการขายจำนวนมากที่ให้แก่ลูกหนี้การค้า ที่เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ทำให้รับรู้รายได้และลูกหนี้การค้าสูงเกินจริง 1,890 ล้านบาท

2.มีจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กรมสรรพากร เพื่อสร้างยอดขายปลอมที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าให้ดูเหมือนจริงโดยบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้า ในส่วนของภาษีขายกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงรวมจำนวน 611 ล้านบาท (ปี 65-569 ล้านบาท ปี 64-35 ล้านบาท และก่อนปี 64 อีก 7 ล้านบาท)

โอนเงินออกหมื่นล้านเอี่ยว “วนรัชต์”

3.เงินที่ได้รับจากลูกหนี้การค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าจริง แต่มาจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง (วนรัชต์ ถือหุ้นในบริษัททีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด 100% ขณะที่ทีมเอ โฮลดิ้ง ถือหุ้นในเอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง 60%) และมาจากบริษัทไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนลฯ

4.เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้จ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าให้คู่ค้า 3 ราย รวม 10,451 ล้านบาท รายการเหล่านี้เกิดขึ้นในเดือน พ.ย.-ธ.ค.65 ซึ่งผู้สอบบัญชีตรวจพบว่าไม่ได้จ่ายไปยัง 3 บริษัทตามที่อ้าง แต่เป็นการโอนเงินออกไปให้ เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง

5.เฟ้ลปส์ ดอด์จ อ้างว่าได้รับเงินจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายรายช่วง ธ.ค.65 จำนวน 2,034 ล้านบาท และ 4,052 ล้านบาท ระบุว่าเป็นการรับเงินจากการขายสินค้าปี 64 ของบริษัท TPC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเฟ้ลปส์ ดอด์จ ในเวียดนาม แต่ไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีการขายเกิดขึ้นจริง และเส้นทางการชำระเงิน บ่งชี้ว่าเป็นการโอนเงินจาก เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งเอ็นจิเนียริ่ง

นอกจากนี้ ยังมีกรณี บริษัท อดิสรสงขลา ที่ทำธุรกิจให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล โดยอดิสรสงขลาฯบันทึกรายได้การให้บริการโดยไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ มีผลให้รับรู้รายได้สูงเกินจริงราว 394 ล้านบาท ในปี 65 และ 240 ล้านบาท ในปี 64 และ 411 ล้านบาท ในช่วงก่อนปี 64, ผู้สอบบัญชียังพบว่า ค่าใช้จ่ายค่าแรงของพนักงานปี 65 เพิ่มขึ้นแบบไม่สอดคล้องกัน โดยปี 65 มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 136 ล้านบาท เทียบกับปี 65 ที่มีเพียง 18 ล้านบาท ทั้งที่ปี 65 จำนวนพนักงานของอดิสรสงขลาฯลดลง และยังตรวจพบว่า อดิสรสงขลาฯบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าแรงพนักงานในปี 65 สูงเกินจริงราว 99 ล้านบาท

กรณีบริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบว่า ไทยเคเบิ้ล ได้ออกเอกสารขายแต่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าจริง ส่งผลให้รับรู้รายได้สูงเกินจริงถึง 600 ล้านบาท ในปี 64 และ 89 ล้านบาท ในช่วงก่อนปี 64 เรียกได้ว่า สารพัดกลโกงกลลวง ถูกนำมาใช้ทุกรูปแบบ เพื่อปล้นเงินจากกระเป๋าของนักลงทุนผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้

มูลค่าความเสียหายแสนล้าน!!

หากประเมินมูลค่าความเสียหายกับปฏิบัติการปล้นของอาชญากรตลาดทุนในครั้งนี้ ในฟากฝั่งของผู้ถือหุ้นนั้น ราคาหุ้น STARK เคยถูกไล่ขึ้นไปสูงสุดที่ราคา 6.6 บาท ดันมูลค่ามาร์เกตแคปขึ้นไปสูงสุดกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท แต่วันนี้ ราคาหุ้นล่าสุด ณ 23 มิ.ย.66 อยู่ที่ 0.02 บาท แทบไม่เหลือค่า...!!

ผู้ถือหุ้นที่ได้รับความเสียหาย มีทั้งบริษัทประกัน นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ กองทุนรวมในประเทศ และผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวนรวมกันกว่า 1 หมื่นราย!! ซึ่งขณะนี้กำลังรวมตัวกัน เพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ขณะที่ความเสียหายในส่วนของเจ้าหนี้นั้น มีเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ที่มีมูลหนี้เงินต้นรวมกว่า 9,200 ล้านบาท มีจำนวนผู้ถือหุ้นกู้ทั้งสถาบันและรายย่อยรวมกันหลายพันราย และยังมีเจ้าหนี้สถาบันการเงินจากงบการเงินล่าสุดอีกกว่า 6,000 ล้านบาท (จากเดิมร่วม 9,000 ล้านบาท)

นอกจากนี้ STARK ยังโดนคดี ที่บริษัทจากเยอรมนีได้ฟ้องข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แห่งประเทศเยอรมนีเรียกค่าเสียหาย 608 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินบาทกว่า 20,000 ล้านบาท หลัง STARK แจ้งยกเลิกการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว

ความเชื่อมั่น “ล้มละลาย”

ความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดทุนที่กำลังเข้าสู่ภาวะความ “ล้มละลาย” ไม่แพ้กัน เพราะมีคำถามและข้อสงสัยมากมาย ว่า ปฏิบัติการปล้นที่เกิดขึ้นเป็นการสมรู้ร่วมคิดของผู้บริหารหรือบอร์ดบริษัท รวมทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง “วนรัชต์” ที่ปลุกปั้น STARK หรือไม่อย่างไร!?!

กรรมการตรวจสอบของบริษัทล่วงรู้ระแคะระคาย หรือได้ทำหน้าที่หรือไม่ ฝ่ายกฎหมายที่ปรึกษากฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สอบบัญชี ที่มีชื่อเสียงความน่าเชื่อถือที่อยู่ระดับบิ๊ก 4 ของโลก มีความบกพร่อง หรือมีมาตรฐานและความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ทำไมถึงปล่อยให้งบการเงินลวงโลกอย่างนี้ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบอย่างไรจึงไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติหรือการฉ้อฉลกลลวงครั้งมโหฬารครั้งนี้ได้ ขณะที่เพียงแค่เปลี่ยนสำนักผู้สอบบัญชีเป็นอีกราย ถึงเพิ่งตรวจสอบพบ…

แล้วต่อไปนักลงทุนจะเชื่อมั่นงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีได้อยู่หรือไม่ หากเชื่อไม่ได้แล้ว ต่อไปจะเชื่อมั่นอะไรได้อีก!!

ขณะที่บริษัทจัดอันดับเครดิตยังให้เครดิต STARK ในระดับ BBB+ ซึ่งแสดงถึงฐานะหรืออันดับที่เข้าใจกันว่าเป็น Investment grade เมื่อบริษัทออกผลิตภัณฑ์การเงินออกมาระดมทุน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้ STARK มีการตรวจสอบฐานะและความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน นักลงทุนสถาบันและกองทุนรวมต่างๆที่นำเงินออมของประชาชนไปลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นกู้ของ STARK นั้น ยึดข้อมูลหรือหลักอะไรในการตัดสินใจ เมื่อความจริงมันออกมาเช่นนี้...

ถึงเวลายกเครื่องกฎหมายตลาดหุ้น

และที่สำคัญที่สุด กฎหมาย กฎระเบียบในตลาดหุ้น ไม่ว่าที่อยู่ภายใต้องค์กรของตลาดหลักทรัพย์ฯและสำนักงาน ก.ล.ต. ควรต้องยกเครื่องสังคายนาครั้งใหญ่หรือไม่ เพราะบทเรียนในวันนี้มันพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า กฎหมาย ข้อบังคับ กฎระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันไม่เท่าทันกลโกงของโจรเสื้อนอกในคราบนักธุรกิจ ที่เข้ามาปล้นเงินในตลาดทุน และมันไม่สามารถปกป้องคุ้มครองนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นได้อย่างควรจะเป็น!!

ตลาดหลักทรัพย์ฯและ ก.ล.ต.จะต้องหันมาจับมือกันทำงานอย่างเหนียวแน่น รวมทั้งหน่วยงานสำคัญอย่างตำรวจเศรษฐกิจและ DSI เพราะหากทำงานชักช้าแม้แต่ก้าวเดียว โจรมันขนเงินออกนอกประเทศไปไหนต่อไหนแล้ว!!

ล่าสุด DSI ได้รับคดีของ STARK เป็นคดีพิเศษหลังพบพฤติกรรมการทุจริตฉ้อโกง ของผู้บริหารและกรรมการ STARK ที่เข้าข่ายผิดอาญาตามกฎหมายหลักทรัพย์ โดย DSI ระบุว่ามีมูลค่าความเสียหายกว่า 50,000 ล้านบาท และเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจประเทศ!!

ซึ่งจากรายงานเชิงลึกระบุว่า DSI กำลังออกหมายจับและอายัดทรัพย์ผู้ต้องหา เบื้องต้นจำนวน 3 คน แต่มีรายงานว่า มีบางคนร้อนตัวหนีออกนอกประเทศไปแล้ว และถึงแม้จะตามลากคออภิมหาโจรมาลงโทษติดคุกติดตะรางได้แล้ว แต่จะติดตามเงินกลับมาคืนให้ผู้เสียหายและนักลงทุนได้แค่ไหน!!

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ