อุตสาหกรรมธุรกิจเพลงทั่วโลกกำลังอยู่ในการเติบโตรอบใหม่ (2nd Wave of Global Music Growth) โดยปัจจัยนำในการเติบโตของทศวรรษนี้คือการเข้ามาของสตรีมมิงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Spotify, Joox หรือ Apple Music ทำให้การเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกในปีที่ผ่านมาขยายตัวกว่า 9% รายได้จากสตรีมมิงแพลตฟอร์มเติบโตกว่า 11.5%
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ในฐานะบริษัทในธุรกิจเพลงที่ใหญ่ที่สุดในไทย ผ่านการทำธุรกิจโดยตรง การลงทุนผ่านบริษัทย่อย และการร่วมทุนผ่าน Joint Venture วางเป้าหมายการเติบโตในอนาคต กลยุทธ์การเติบโตด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจเพลงในประเทศไทย
นายธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการหน่วยงาน Group Investment บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2566 เติบโตมากกว่า 10% หรือ double digit growth จากปีก่อนที่ทำได้ 5,321.58 ล้านบาท จากผลประกอบการไตรมาส 2/66 มีแนวโน้มเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมกับปีนี้วางงบลงทุนไว้ที่ระดับ 500 ล้านบาท สำหรับการผลิตคอนเทนต์ใหม่ โดยเฉพาะการสร้างเพลง การพัฒนาศิลปิน และขยายช่องทางการขายต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงให้ออกมาอย่างต่อเนื่อง และยืนหยัดการเป็นบริษัทเพลงอันดับหนึ่งในแง่ของผลงาน ปริมาณ และเงินลงทุนต่อเนื่อง จากปีก่อนมีการออกเพลงใหม่ไปมากกว่า 400 เพลง ผ่านค่ายต่างๆ ทำยอดวิวใน YouTube รวมกว่า 11,197 ล้านวิว หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดเพลงกว่า 62% รวมถึงสามารถเข้าไปติด Top Chart ในแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน การที่บริษัทจะรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจเพลงได้จะต้องสร้างคลื่นลูกใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญอย่างมากกับธุรกิจบริหารศิลปิน จากการตั้งอาคาเดมี่ หรือการเข้าไปทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อคัดสรรและบ่มเพาะให้มีศิลปินที่มีคุณภาพในประเทศไทยต่อไป โดยปีนี้ตั้งเป้าศิลปินใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดมากกว่า 60 คน แบ่งเป็น ROCK IDOL, THAI IDOL และ POP IDOL
นอกจากนี้ บริษัทมองว่าจะสามารถมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 3 ปีข้างหน้า จากที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรมของธุรกิจที่ดำเนินอยู่นั้นมีการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะตลาดเพลงทั่วโลกที่ปีก่อนทำสถิติสูงใหม่อีกครั้ง ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเอเชียโตเฉลี่ยกว่า 15.4%
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีแนวทางเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastucture) ของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ จากเดิมเป็นเพียงผู้ให้บริการ ทั้งนี้เพื่อต่อยอดธุรกิจในแขนงต่างๆ เช่น ธุรกิจเพลง ธุรกิจคอนเทนต์ ธุรกิจหนัง และธุรกิจบริหารศิลปิน โดยเน้นการใช้ Big Data เข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักในการวางแผนธุรกิจ ทำให้การเติบโตของรายได้ที่ผ่านมาสอดคล้องไปกับการเติบโตของเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม ซึ่งมองว่าในอนาคตโอกาสในการเติบโตของบริษัทยังมีอีกมาก
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจเพลง 63% ธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง 25% ธุรกิจภาพยนตร์ 5% และธุรกิจให้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียม 3%