48 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

Investment

Stocks

Content Partnership

Content Partnership

Tag

48 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

Date Time: 29 พ.ค. 2566 06:01 น.
Content Partnership

Summary

  • ฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลสถิติและพัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ไทยตลอด 48 ปีของการดำเนินงาน โดยได้ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจ รวบรวมและจัดสรรการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลสถิติและพัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ไทยตลอด 48 ปีของการดำเนินงาน โดยได้ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจ รวบรวมและจัดสรรการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้กิจการต่างๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการออมการลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่ง

โดยตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา โดยมีสัดส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ต่อ GDP ที่เติบโตต่อเนื่อง และสูงถึง 121%ของ GDP ในปี 2565 สะท้อนภาพรวมความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ต่อระบบเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีพัฒนาการและเติบโตขึ้นในหลายมิติ เช่น ขนาดของตลาด, สภาพคล่องการซื้อขาย ,ปริมาณการระดมทุน, การขยายฐานนักลงทุน ความโดดเด่นในเรื่องความยั่งยืน เป็นต้น

มีพัฒนาการ-เติบโตขึ้นในทุกมิติ

โดยในปี 2565 ขนาดของตลาดหุ้นไทย ซึ่งวัดโดย Market Capitalization ของ SET และ mai มีมูลค่าอยู่ที่ 20.93 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 19.22% (CAGR) นับตั้งแต่จัดตั้งมา โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ SET Index ได้เคลื่อนไหวและพัฒนาไปตามสภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยสิ้นปี 2565 ดัชนีหุ้นไทยมาปิดตลาดอยู่ที่ 1,668.66 จุด เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.56% (CAGR) ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงผลตอบแทนรวมหรือ Total Return ของ SET Index นับตั้งแต่ปี 2545 มีการเติบโตได้ปีละ 12.08% (CAGR) อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยปี 2565 มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 76,773 ล้านบาทต่อวัน เติบโตเฉลี่ยปีละ 23.30% (CAGR)

ด้านการลงทุนและฐานนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีแนวโน้มเติบโตและมีมูลค่าการซื้อขายที่กระจายตัวในหลายกลุ่มผู้ลงทุน โดยการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของ SET และ mai แยกตามประเภทผู้ลงทุนปี 2565 ประกอบด้วย 1. ผู้ลงทุนบุคคลในประเทศมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 29,957 ล้านบาท คิดเป็น 39.02% ของมูลค่าการซื้อขายรวม 2. ผู้ลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 34,978 ล้านบาท หรือ 45.56% 3. ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 5,723 ล้านบาท หรือ 7.45% 4. บัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 6,115 ล้านบาท คิดเป็น 7.96% ในด้านฐานผู้ลงทุนนั้น จำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงเพิ่มขึ้นและทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2565 มีทั้งสิ้น 5,848,429 บัญชี เพิ่มขึ้น 12.01% จากสิ้นปี 2564 และมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตของผู้ลงทุนบุคคลเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 78.08% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของผู้ลงทุนบุคคล สะท้อนการพัฒนากระบวนการ Digitalization ในตลาดทุน และช่วยส่งเสริมสภาพคล่องในการซื้อขาย

แหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ของภาคธุรกิจ

ขณะที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการพัฒนาและมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เปิดโอกาสและเชื่อมโยงการลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ รวมถึง DRx ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ในตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสการลงทุนที่ใช้เงินไม่มาก ในการกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการระดมทุนและซื้อขายโทเคนดิจิทัล ทั้ง Investment Token และ Utility Token รวมทั้งได้มีการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งจะช่วยรองรับการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย

ด้านการระดมทุน ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เป็นช่องทางการระดมทุนของธุรกิจขนาดต่างๆ จากหลากหลายอุตสาหกรรม สนับสนุนการเติบโตของกิจการ เป็นทางเลือกการระดมทุน โดยเฉพาะช่วงวิกฤติและเป็นกลไกในการยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย โดยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีมูลค่าการระดมทุนทั้งในตลาดแรกและตลาดรองปรับตัวสูงขึ้นมาก ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการระดมทุนรวมสูงถึง 1.58 ล้านล้านบาท โดยปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าการเสนอขาย IPO ที่ 127,836 ล้านบาท สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย โดยมีบริษัทในกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งได้ช่วยเสริมสร้างความหลากหลายให้กับตลาดทุน ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มเป็น 810 บริษัท นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการตลาดไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs และ Startups ซึ่งปี 2565 ได้มีการระดมทุนไปแล้ว 3 บริษัท มูลค่าระดมทุนรวม 196 ล้านบาท

ผู้นำด้านความยั่งยืนระดับสากล

ที่สำคัญบริษัทจดทะเบียนไทยยังได้รับการยอมรับและเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล โดยมีจำนวนบริษัทไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปในดัชนีด้านความยั่งยืนระดับสากลเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้รับคัดเลือกจำนวนสูงที่สุดในอาเซียนหลายปีซ้อน ในปีที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มเปิดตัวบริการ ESG Data Platform ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนและปัจจัยด้าน ESG สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ผ่านระบบจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนมีข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน นำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายต่อไป

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มุ่งยกระดับประสิทธิภาพของตลาดทุนผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบ FINNET สำหรับการชำระเงินของตลาดทุน, ระบบ SET Link เพื่อให้บริการบริษัทจดทะเบียน, ระบบงาน Digital Platform เช่น FundConnext การรับส่งข้อมูลการซื้อขายชำระราคากองทุนรวม และ e-Services ต่างๆ และได้พัฒนาระบบซื้อขายใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบนิเวศการลงทุน รองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ

จะเห็นว่าตลาดทุนไทยมักปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวจากสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สะท้อนภาพการฟื้นตัวจากโควิดและความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลายปัจจัยกำลังมีพัฒนาการและยังอาจเป็นความท้าทายในตลาดทุนที่จะส่งผลต่อเนื่อง เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ความยั่งยืนกับการทำธุรกิจ การเมืองภายในและระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม สังคมผู้สูงอายุ นำไปสู่การเตรียมตัวและการจัดการกับโอกาส และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจและตลาดทุนในระยะถัดไป


Author

Content Partnership

Content Partnership