ธนาคารกรุงไทย โชว์กำไร 6 เดือนแรกปี 65 แตะ 17,139 ล้าน เพิ่มขึ้น 48%

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ธนาคารกรุงไทย โชว์กำไร 6 เดือนแรกปี 65 แตะ 17,139 ล้าน เพิ่มขึ้น 48%

Date Time: 21 ก.ค. 2565 20:37 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ธนาคารกรุงไทยโชว์กำไร 6 เดือนแรกปี 65 แตะ 17,139 ล้าน เพิ่มขึ้น 48% ส่วนไตรมาส 2/65 กำไรสุทธิแตะ 8,358 ล้าน หลังรายได้รวมขยายตัวจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ 

Latest


ธนาคารกรุงไทยโชว์กำไร 6 เดือนแรกปี 65 แตะ 17,139 ล้าน เพิ่มขึ้น 48% ส่วนไตรมาส 2/65 กำไรสุทธิแตะ 8,358 ล้าน หลังรายได้รวมขยายตัวจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ 

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 65 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรก ปี 65 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 17,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัว 4.9% จากการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย รวมถึงการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับ 2.50% ประกอบกับบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดี รวมถึงค่าใช้จ่ายตามฤดูกาล ค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลง 0.7% ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 41.86% ลดลงจาก 3.33% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 31.0% แต่ยังคงรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ 174.3% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับไตรมาส 2/65 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมที่ขยายตัว 2.1% ทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของสินเชื่อ และการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในภาพรวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 42.48% ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับคงที่จากไตรมาส 2 ปี 2564  

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 5,669 ล้านบาท ลดลง 30.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการตั้งสำรองไว้ในระดับสูง โดยธนาคารยังยึดหลักการทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบกับคุณภาพของสินทรัพย์ ประกอบกับติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด

โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) 3.32% ลดลงเมื่อเทียบสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับ 3.50% และยังคงรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ 174.3% เทียบกับ 168.8% เมื่อสิ้นปี 2564

เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลง 4.8% เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด

แม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวได้ดีจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงระดับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ยึดหลักระมัดระวัง โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา

สำหรับธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 328,287 ล้านบาท (ร้อยละ 15.98 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง) และเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 413,559 ล้านบาท (ร้อยละ 20.13 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง)

โดยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. โดยในเดือน เม.ย. 65 ธนาคารได้ออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งมากขึ้น รองรับการเติบโตในอนาคต 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินกิจการได้มากขึ้น หลังจากทยอยยกเลิกมาตรการเข้มงวดที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป เป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ในรูปแบบ The New K-shaped Economy ซึ่งเป็นภาพของเศรษฐกิจไทยเฟสใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย และยังมีความท้าทายจากแรงกดดันปัจจัยภายนอก

โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยืนอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และยังคงเน้นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุด เพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารจึงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด รักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง รักษาระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน พร้อมดูแลช่วยเหลือลูกค้า และเตรียมพร้อมในการขยายธุรกิจรองรับการแข่งขันในอนาคต. 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ