วัลลภา แม่ทัพ AWC หวังรัฐบาลกระตุ้นท่องเที่ยวเพิ่มเติม หลังเห็นสัญญาณการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว หากเทียบกับปี 63 พร้อมปั้น 3 โปรเจกต์มิกซ์ยูส รับนักเดินทางทั่วโลก
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดใหญ่มากพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับปี 63 เราพบว่าทันทีที่รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ที่ผ่านมาเราพบว่า การฟื้นตัวไม่ต้องใช้เวลายาวนานหนึ่งเดือนเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องรอการฟื้นถึง 1 ไตรมาส
ทั้งนี้ เท่าที่เราได้มอนิเตอร์ดู พบเดือน ก.ย.ปีนี้ Occupancy Rate หรืออัตราการเข้าพักมีโมเมนตัมหลังสถานการณ์โควิดไปได้เร็ว และไปได้ดีกว่าเดิม ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งเราได้เห็น New lifestyle อะไรที่เราตอบโจทย์ลูกค้าได้ ตอนนี้เราอาจจะได้เห็นลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติบางส่วนมา work vacation กับโรงแรมในเครือ AWC แต่เดิมเรามีลูกค้าอยู่ยาวประมาณ 1 อาทิตย์ แต่ตอนนี้เราพบว่าลูกค้าอยู่มากกว่า 1 เดือน
สำหรับการเปิดประเทศนั้น หากเรามองจากต้นแบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เราจะพบว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก่อนจะเป็นกลุ่ม HIGH Segment ส่วนกลุ่มที่เราคาดว่าจะมาช้าหน่อยคือ กลุ่ม Global MICE ซึ่งกลุ่มนี้ต้องมีบุ๊กกิ้งล่วงหน้า 1-2 ปี เป็นต้น
"เราเชื่อว่าถ้าประเทศเปิดเมื่อไหร่ นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะกลับมาสร้างโมเมนตัมให้กับไทยอีกครั้ง ไตรมาส 4/64 นี้เราคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวไทยก่อน ซึ่งหากนโยบาย หรือมาตรการของรัฐของรัฐมีความชัดเจน เช่น จำนวนวันการกักตัว กฎการเดินทางเข้าประเทศ เช่น การทำประกันโควิด การตรวโควิด รวมถึง Quarantine ที่ยังเป็นจุดสำคัญที่เรายังไม่สามารถทำดีมานด์ให้กับมาอย่างเต็มที่ได้ ที่สำคัญเราก็ต้องมั่นใจการบริหารความเสี่ยงภายในประเทศด้วย เช่น การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมถึงมาตรการต่างๆ เราก็ชื่อว่าการท่องเที่ยวการเดินทางจะกลับมาอีกครั้ง"
วัลลภา กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ของรัฐบาลถือว่าเป็นโครงการที่ดี กระตุ้นการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงเศรษฐกิจ ซึ่งเราเห็นสัญญาณทันทีที่มีการประกาศโครงการดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้การบุ๊กกิ้งชะลอ แต่พอมีโครงการยอดจองโรงแรมพุ่งสูงทันที
"วันนี้เราเห็นดีมานด์จากหัวหินที่มียอดการจองการเติบโตค่อนข้างมาก โดยยอดจองช่วงสุดสัปดาห์มีอัตราการจองห้องพักกว่า 90% แต่จังหวัดที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน เช่น เชียงใหม่ สมุย ยังคงต้องรอความชัดเจนอีกระยะหนึ่ง เช่น ความปลอดภัยต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ซึ่งสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่ายอดจองจะกลับมามากขึ้น"
คาด long-term stay ช่วยดึงดูดต่างชาติตั้ง Regional Office ในไทย
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว หรือ long-term stay นั้น วัลลภา กล่าวว่า เรามองว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของประเทศ วันนี้ไม่ใช่แค่มุมของการท่องเที่ยว วันนี้เราเป็นโลเกชั่นสำหรับ New lifestyle
ทั้งนี้ ตึกสำนักงานของ AWC มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาเช่าพื้นที่ 60% เราเห็นดีมานด์กลุ่มบริษัทต่างชาติที่อยากย้ายเข้ามาตั้งฐานที่เมืองไทย ถ้าเราเปิดให้ต่างชาติเข้ามาอาศัยแบบระยะยาว ก็จะตอบโจทย์เรื่องการสร้างออฟฟิศเป็นฐานอยู่ที่เมืองไทย เท่าที่เราคุยกับหลายๆ บริษัทหลายแห่ง เขาก็บอกว่าถ้ามาเมืองไทยถือดีเลย อยากมาเอนจอยที่นี่ และที่สำคัญต้นทุนหลายอย่างไม่ได้สูง
หลังสถานการณ์โควิดองค์กรหลายแห่งอาจะดูว่า เมืองไทยตอบโจทย์พนักงาน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และสามาารถบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
"วันนี้เมืองไทยเรามีจุดแข็งมาก มีศักยภาพที่โตอีกเยอะ ยิ่งเรามีซัพพลาย์ด้านโรงแรม แต่เดิมเราตอบโจทย์แค่นักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการตั้งสำนักงานระดับภูมิภาค หรือ Regional Office ซึ่งรัฐบาลกำลังมีแผนโปรโมต ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจบริการให้มีดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ long stay และ vacation"
โครงการมิกซ์ยูสตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่
วัลลภา กล่าวว่า หลังจากเราเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา AWC ถือเป็นแฟลกชิพสำคัญของ ทีซีซี กรุ๊ป ด้วยขนาด IPO ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด และยังเป็น IPO ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปีอีกด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การรวมโครงการคุณภาพทั้งหมดที่มีนำมาวางกลยุทธ์สมดุลในการจัดพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งมีทรัพย์สินในหลายเซกเตอร์ และกลยุทธ์ที่จะเติบโตได้อย่างมั่นคง ทำให้ AWC ก้าวผ่านสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและรวมพลังผู้บริหาร พนักงาน ขับเคลื่อนองค์กรรักษาความแข็งแกร่งให้พร้อมเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้เรายังคงเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะยาว และเตรียมกลยุทธ์การเป็น OMNI-Integrated Lifestyle Real Estate ที่รวมความหลากหลายของประเภทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่ที่มุ่งตอบโจทย์และเสริมรูปแบบการใช้ชีวิตไร้ขีดจำกัด
สำหรับทิศทางธุรกิจของ AWC ต่อจากนี้เรายังเดินหน้าลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบ รวมถึงโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน หรือ Mixed and Merged ไม่ได้มีการแยกโรงแรม ค้าปลีก หรือตึกสำนักงาน ออฟฟิศอย่างชัดเจน ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่
รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน AWC Connext ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การใช้จ่ายผ่านโปรแกรม AWC Infinite Lifestyle เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์การใช้บริการของอสังหาริมทรัพย์ทุกแห่งของ AWC ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอของ AWC มีครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย โรงแรม 18 แห่ง, รีเทล 8 แห่ง, อาคารสำนักงาน 4 แห่ง, ค้าส่ง 2 แห่ง รวมทั้งหมด 32 แห่ง
"ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่อีก 18 โครงการ ซึ่งจะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าในพอร์ตโฟลิโอของ AWC จะมีจำนวนอสังหาริมทรัพย์รวม 50 แห่งในหลากหลายทำเลสำคัญของประเทศ"
เดินหน้าลงทุน 3 โปรเจกต์แลนด์มาร์กรับการท่องเที่ยว
วัลลภา กล่าวอีกว่า 3 โปรเจกต์แลนด์มาร์กที่ AWC กำลังเดินโครงการอยู่นั้น เราเชื่อว่าจะะสร้างปรากฏการณ์ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยดังนี้
โครงการแรก ASIATIQUE THE RIVERFRONT DESTINATION ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์กระดับไอคอน หรือ Iconic Landmark แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม
ประกอบด้วย โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, โรงแรมเจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ รวมถึง ริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนส์ ซึ่งเป็นเซอร์วิส เรสซิเดนส์ โดยมีแผนเปิดให้บริการเริ่มจากเปิดโซนค้าปลีกและสำนักงานในปี 2567
โครงการที่ 2 AQUATIQUE DISTRICT PATTAYA โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองพัทยา ประกอบด้วยแหล่งช็อปปิ้ง แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมหรู 5 แบรนด์ และแบรนเด็ด เรสซิเดนส์อีก 2 แบรนด์ และพื้นที่ค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับ Wellness ซึ่งตอบโจทย์การส่งเสริมให้พัทยาเป็นจุดหมายปลายทางของชายหาดยอดนิยม หรือ Beachfront destination ระดับโลก
โครงการที่ 3 เวิ้งนาครเขษม โครงการพิเศษแบบ Mixed Development ทั้งโรงแรม ที่อยู่อาศัย และค้าปลีก ด้วยการลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท โดยเราจะดึงเสน่ห์และอนุรักษ์ความเป็นไชน่า ทาวน์ รวมถึงร้านค้าปลีกใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เส้นทางมรดกทางประวัติศาสตร์ และถนนแห่งความบันเทิง พร้อมตอบโจทย์การสร้างจุดหมายปลายทางแห่งความภาคภูมิให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกด้วย.