ธนาคารกรุงเทพ เผยผลประกอบการครึ่งปีแรกของ 64 กำไรสุทธิแตะ 13,280 ล้านบาท หลังควบรวมธนาคารเพอร์มาตา อินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปี 64 ว่า ธนาคาร และบริษัทย่อยมีจำนวน 13,280 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 หลักๆ จากผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพ.ค.63 และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.12 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 63
ทั้งนี้ เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในครึ่งแรกของปีก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 จากค่าธรรมเนียมบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงการรวมรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเพอร์มาตา
สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49.5 ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังโดยคาดการณ์ปัจจัยผลกระทบสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 64 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,420,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากสิ้นปี 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและสินเชื่อกิจการต่างประเทศ แม้ว่าอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ในระดับทรงตัวที่ร้อยละ 3.7 ธนาคารยังคงมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 190.3
โดยธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 จำนวน 3,046,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้าต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่มีความไม่แน่นอน ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 79.4
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.4 ร้อยละ 15.9 และร้อยละ 15.0 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่สอง ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกที่สามของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวลงต่อเนื่อง อาทิ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำสุดในรอบ 19 ปี กระทบต่อไปยังการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของประเทศไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ร่วมกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง มีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนหลายพันรายต่อวัน การกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้การระบาดยืดเยื้อ สัดส่วนประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนยังไม่มากพอ
ขณะที่แผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการ ด้วยเหตุนี้ ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประคับประคองและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพ ได้สนับสนุนมาตรการของภาครัฐและเร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมดูแลลูกค้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าแต่ละราย ขณะเดียวกัน ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง