ผ่ากลยุทธ์การบินไทย ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ คาดปี 68 มีกำไรก่อนหัก EBIT 10%

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่ากลยุทธ์การบินไทย ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ คาดปี 68 มีกำไรก่อนหัก EBIT 10%

Date Time: 2 มี.ค. 2564 18:31 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • สรุป 4 กลยุทธ์ของ "การบินไทย" ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ตั้งเป้าปี 68 มีกำไรก่อนหัก EBIT ประมาณ 10%

Latest


สรุป 4 กลยุทธ์ของ "การบินไทย" ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ตั้งเป้าปี 68 มีกำไรก่อนหัก EBIT ประมาณ 10%

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 64 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า วันนี้การบินไทยได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจนแล้วเสร็จ และได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ภายหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้รับความเห็นชอบจาก ศาลล้มละลายกลาง รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง การบินไทยก็พร้อมที่จะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของการบินไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสามารถสร้างรายได้ ตลอดจนทำกำไรได้อย่างยั่งยืน

โดยการบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง หรือ Private High Quality Full Service Carrier with Strong Thai Brand, Connecting Thailand to the World and Generating Consistently Healthy Profit Margin ประกอบด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

1. เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก ด้วยทางเลือกผลิตภัณฑ์ตามความพึงพอใจของลูกค้า โดยการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพสูง โดยมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้น โดยมีผลตอบแทนรายได้และกำไรของธุรกิจจากการนำเสนอบริการเสริมเพื่อเป็นตัวเลือกอย่างเต็มรูปแบบ และมีการผสมผสานช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ทำให้เกิดการตลาดแบบผสมผสานกันในหลากหลายช่องทาง (Omnichannel) อีกทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งทางการพาณิชย์ด้วยการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการพาณิชย์อย่างเข้มข้น

3. การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ อาทิ การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินที่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงการปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับธุรกิจเพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น การปรับลดจำนวนพนักงานให้อยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ได้

4. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการและความปลอดภัย และการเป็นศูนย์กลางการเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย

ทั้งนี้ การบินไทยได้ริเริ่มจัดตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Chief of Transformation Office) และได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ จากพนักงานทุกระดับและสายงานกว่า 600 โครงการ โดยโครงการเหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายการเงิน พร้อมระบุแผนการดำเนินงานโดยละเอียด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในแต่ละขั้นตอน และกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการไว้อย่างชัดเจน

โดยการบินไทยได้มีการวางระบบการดำเนินงานเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จ โดยได้มีการปรับใช้ระบบและวิธีการที่ได้รับการรับรองว่าประสบผลสำเร็จแล้วของบริษัทอื่นๆ ที่เคยอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกว่า 500 แห่งทั่วโลก รวมถึงการปรับโครงสร้างของสายการบินต่างชาติ และการปฏิรูปธุรกิจต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศไทย

"คาดว่าจะทำให้การบินไทยเกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 2568 ตลอดจนเพิ่มศักยภาพบุคลากร เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนระบบการทำงานรูปแบบใหม่ และเน้นความโปร่งใส ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้แผนประสบความสัมฤทธิผล"

ขณะเดียวกัน การบินไทยเองก็มีมาตรการในการหารายได้และลดค่าใช้จ่าย และได้เร่งดำเนินการดังกล่าว ซึ่งสำเร็จลุล่วงไปบ้างแล้ว เช่น การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Flight Business) และธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight Business) และการลดค่าใช้จ่ายโครงการที่ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น

- การปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งการบินไทยวางเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนพนักงานลงจากปี 2562 โดยในปีดังกล่าวการบินไทยมีพนักงานประมาณ 29,000 คน ซึ่งปัจจุบันที่การบินไทยได้ดำเนินการปรับลดขนาดองค์กรสำเร็จลุล่วงแล้ว

ทั้งลดจำนวนพนักงานที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Outsource) พนักงานที่เกษียณหรือลาออก และพนักงานผู้เสียสละเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร ในโครงการ MSP A ทำให้วันนี้การบินไทยมีพนักงานอยู่ประมาณ 21,000 คน

โดยคาดว่าในปี 2564 จะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร ในโครงการ MSP B และ MSP C อีกประมาณ 6,000 - 7,000 คน ซึ่งจะทำให้มีพนักงานคงเหลือประมาณ 14,000 -15,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับแผนธุรกิจของการบินไทยในอนาคต

- แผนลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งนี้ เนื่องจากมีโควิด-19 ทำให้อุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบินในระยะสั้นจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างสมบูรณ์ คณะผู้ทำแผนจึงได้ดำเนินการเจรจาจัดทำข้อตกลงเพื่อปรับเงื่อนไขการใช้เครื่องบินกับผู้ให้เช่าเครื่องบิน โดยปรับค่าเช่าเป็นลักษณะยืดหยุ่นตามชั่วโมงการใช้งานจริง รวมถึงได้มีการจัดกลุ่มนักบินให้มีความเหมาะสมกับแบบของเครื่องบิน และปรับชั่วโมงการบิน ซึ่งจะทำให้การบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบินได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า แม้ว่าจะดำเนินการตามมาตรการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ก็ตาม การบินไทยก็ยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาเงินทุนจากผู้ร่วมทุนใหม่ หรือ เงินกู้จำนวนกว่า 50,000 ล้านบาท มาเสริมสภาพคล่องภายใน 2 ปีนี้

โดยเบื้องต้นระยะเร่งด่วนภายในกลางปี 64 นี้ การบินไทยจะต้องใช้เงินจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท มาใช้ในการจัดการในบริษัท ทั้งเรื่องเงินเดือน และเงินชดเชยพนักงานในส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในส่วนของผู้ร่วมทุนใหม่นั้นได้มีการเจรจาบ้างแล้ว แต่ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนการกู้เงินก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการดำเนินการ

นายนนท์ กลินทะ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ การบินไทย กล่าวว่า ในแผนฟื้นฟูฯการบินไทยจะเน้นการทำตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และความต้องการของผู้โดยสารเป็นหลัก เช่น ให้ผู้โดยสารสามารถเลือกความต้องการของที่นั่ง เลือกน้ำหนักการโหลดกระเป๋าได้ ขณะเดียวกันจะมีโปรโมชั่นราคาค่าโดยสารที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนั้น การทำตลาดการบิน จะเน้นโค้ดแชร์ร่วมกับสายการบินพันธมิตรมากขึ้น และในเดือน ก.ค.นี้ การบินไทย จะกลับมาทำการบินในเชิงพาณิชย์ในเส้นทางบินต่างประเทศ ในเส้นทางยุโรป 5 จุดบิน ประกอบด้วย เส้นทางบิน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ลอนดอน ซูริก, ส่วนภูมิภาคเอเชีย จะทำการบิน ญี่ปุ่น ในเส้นทางบิน โอซากา ฮาเนดะ นาโกยา ,ส่วน เกาหลี ทำการบิน อินชอน, มะนิลา และ จาการ์ตา เป็นต้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ