การบินไทยหายใจสะดุด ปี 63 ขาดทุน 1.4 แสนล้าน SET สั่งห้ามซื้อขายหุ้น

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

การบินไทยหายใจสะดุด ปี 63 ขาดทุน 1.4 แสนล้าน SET สั่งห้ามซื้อขายหุ้น

Date Time: 25 ก.พ. 2564 15:15 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • การบินไทย เผยผลการดำเนินงานปี 63 ขาดทุน 141,180 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่าย 96,430 ล้านบาท ขณะที่ SET ขึ้นเครื่องหมาย SP สั่งห้ามซื้อขายหุ้น

Latest


การบินไทย เผยผลการดำเนินงานปี 63 ขาดทุน 141,180 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่าย 96,430 ล้านบาท ขณะที่ SET ขึ้นเครื่องหมาย SP สั่งห้ามซื้อขายหุ้น

เมื่อวันที่ 25 ก.พ.64 นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบอุตสาหกรรมการบินโลกอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์โดยเฉพาะในเส้นทางบินระหว่างประเทศ

ส่งผลให้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 73.7% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 78.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.87 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 76.1% สำหรับด้านการขนส่งสินค้า อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 58.6% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 53.8%

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 96,430 ล้านบาท ส่งผลให้ผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 141,180 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางบัญชีที่ไม่มีผลกระทบกับกระแสเงินสด จำนวน 91,978 ล้านบาท ซึ่งประกอบดังนี้

- ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน 82,703 ล้านบาท

- ผลขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิ จำนวน 5,227 ล้านบาท

- สำรองเงินชดเชยพนักงานในโครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) จำนวน 3,098 ล้านบาท

- ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 895 ล้านบาท

- ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 261 ล้านบาท

- กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 206 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายบุคลากร โดยขอความร่วมมือผู้บริหารและพนักงานสมัครใจร่วมโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน (Together We Can)

นอกจากนี้ มีโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (“MSP A”) และโครงการลาระยะยาว (“LW20”) เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทสามารถดำรงเงินสดในมือให้เพียงพอในการดำเนินกิจการระหว่างที่ไม่มีกระแสเงินสดรับ จากการดำเนินธุรกิจการบินปกติและจากแหล่งเงินทุนอื่น

ประกอบกับการชะลอการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ และความปลอดภัย และหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้บริษัทฯ ลดค่าใช้จ่ายคงที่จากปีก่อนได้ถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การบินไทย มีการหารายได้จากการให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยกลับบ้าน และรายได้จากกิจการอื่นๆ อาทิ ฝ่ายครัวการบิน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 63 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่บริษัทฯ เสนอ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงประกาศคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 63

ขณะนี้คณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ผู้ทำแผนยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในวันที่ 2 มี.ค. 64 และเมื่อได้ยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันที่การบินไทยประกาศผลการดำเนินงานปี 63 ได้ไม่นาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP โดยให้เหตุผลว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน กรณีส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ โดยจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ หรือภายในวันที่ 8 มี.ค.64

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ขึ้นเครื่องหมาย NP ในวันที่ 1 มี.ค.64 โดยให้เหตุผลว่า ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินปี 2563 ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้ พร้อมทั้งแจ้งหมายเหตุไว้อีกด้วยว่า THAI เป็นหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้วและศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย ณ วันที่ 03/07/63 มีดังนี้

1. กระทรวงการคลัง
2. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
3. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด
5. ธนาคาร ออมสิน
6. นายทรงศักดิ์ จิตเจือจุน
7. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED
8. นายธนาธิป วิวัฒนกิจเจริญ
9. นายวิชัย คณาธนะวนิชย์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ