ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทิสโก้ชี้ ปี 64 หุ้นทั่วโลกปรับขึ้นต่อ แม้ราคาจะแพงขึ้นเหตุได้ 5 ปัจจัยหนุนให้ไปต่อ แต่แนะให้ซื้อทองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU กล่าวว่า แม้ปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกจะซื้อขายในระดับราคาที่ค่อนข้างแพงมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ TISCO ESU ยังคงมองว่าในปี 2564 ตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 5 ปัจจัย ได้แก่
1. การฟื้นตัวของตัวเลขเศรษฐกิจ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า ในปี 2564 GDP โลกจะขยายตัวที่ 5.2% ฟื้นตัวขึ้นจากที่หดตัวถึง -4.4% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการค้นพบวัคซีนโควิด-19
2. การเลือกตั้งสหรัฐฯที่มีความชัดเจน ซึ่งเป็นผลจากการที่นายโจ ไบเดน สามารถคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
3. การค้นพบวัคซีนโควิด-19 และน่าจะเริ่มแจกจ่ายได้ในปี 2564 พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในหลายประเทศได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2564 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นไป
4. นโยบายการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเมื่อเทียบกับในอดีต โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับเป้าหมายนโยบายการเงินไปใช้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ Fed คงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายได้นานกว่าในอดีต แตกต่างกับในช่วงปี 2559-2560 ที่ Fed กลับมาขึ้นดอกเบี้ยในทันทีที่เงินเฟ้อสูงเกินเป้าหมายที่ 2% และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยพร้อมทั้งลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับฐานลงแรงถึง 15% ในปี 2561
5. กำไรของบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวขึ้นเร็ว ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่รวบรวมโดย Bloomberg ชี้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 จะฟื้นตัวขึ้น 22% ในปี 2564 และขยายตัวต่อเนื่องอีก 15% ในปี 2565
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย คาดว่ากำไรจะขยายตัว 46% และ 14% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มหุ้นที่น่าจะปรับตัวขึ้นแรงในปีหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้ ยังคงมองว่า หุ้นวัฏจักร เช่น กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม, สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าวัสดุ ยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จาก 5 ปัจจัยบวกขั้นต้น อีกทั้งราคาหุ้นกลุ่มนี้ยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวมอีกด้วย
อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน ประกอบกับนโยบายการคลังขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงสวัสดิการจากภาครัฐเพิ่มขึ้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นแรงเหมือนเช่นในช่วงภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Great Inflation) ในปี 2508-2525
ทั้งนี้ จึงแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนไปยังทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อในระยะยาว โดยมองระดับราคาที่เหมาะสมในการเข้าทยอยสะสมที่ ระดับต่ำกว่า 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์