ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 21 ส.ค.63 ปิดที่ 1,299.26 จุด เพิ่มขึ้น 2.47 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 42,295.00 ล้านบาท หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด CPALL ปิด 62.75 บาท ลบ 0.25 บาท, GPSC ปิด 62.75 บาท ลบ 3.25 บาท, NER ปิด 3.24 บาท ลบ 0.28 บาท, PTT ปิด 36.50 บาท บวก 0.25 บาท และ AOT ปิด 54 บาท บวก 1.25 บาท
ตลอดทั้งสัปดาห์ดัชนีหุ้นไทยลดลง 27 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 5,568 ล้านบาท ตามด้วยสถาบันขายสุทธิ 4,025 ล้านบาท พอร์ตโบรกเกอร์ขายสุทธิ 444 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิสวนทาง 10,037 ล้านบาท
โดยตลาดผันผวนขึ้นลงแรง นักลงทุนกังวลกับปัจจัยที่มีความไม่แน่นอน และปัจจัยลบต่างๆที่ยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุน รวมทั้งช่วงปลายสัปดาห์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศในรอบ 3 เดือน แม้ไม่น่าจะเกิดการระบาดรอบใหม่ แต่ทำให้มีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนช่วงสั้น ขณะที่การเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังเกิดม็อบกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ทวีความตึงเครียดกดดันบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลก
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์หน้าคาดดัชนีฯ จะยังแกว่งตัวแบบ Sideway down หลังดัชนีหลุดแนวรับจิตวิทยาสำคัญที่ 1,300 จุด บวกกับปัจจัยที่ไม่แน่นอนและปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศแนะกลยุทธ์การลงทุน เน้นเก็งกำไรด้วยความระมัดระวัง โดยเลือกลงทุนหุ้นในธีม Earning play ในหุ้นที่งบ Q2/63 ออกมา
ดีกว่าคาดและแนวโน้มครึ่งปีหลังยังดี ด้านเทคนิคให้แนวรับไว้ที่ 1,280-1,270 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,330 จุด
ปิดท้ายมีข่าวสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” เพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้ลงทุน หลังตลาดตราสารหนี้ไทยอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ผู้ออกตราสารหนี้หลายราย จึงเสนอขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ที่มีความเสี่ยงและซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไปเพื่อให้ผลตอบแทนสูงขึ้น
โดยหากขายให้ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth) ต้องได้รับการจัดอันดับเครดิตอยู่ในระดับ investment grade เท่านั้น ซึ่งเป็นการคัดกรองคุณภาพเบื้องต้นว่า บริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีความสามารถในการชำระหนี้ระดับหนึ่ง เนื่องจากหุ้นกู้นี้ ไม่มีการกำหนดอายุไถ่ถอน ทำให้ผู้ลงทุนต้องถือไว้นานกว่าหุ้นกู้ทั่วไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 55 จนถึงเดือน มิ.ย.63 พบมีการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์รวม 1.19 แสนล้านบาท ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นรายย่อย 81% และผู้ลงทุน high net worth ราว 6%.
อินเด็กซ์ 51