การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และลากยาวมาจนถึงขณะนี้ ส่งผลต่อตลาดหุ้น ตลาดเงิน ทองคำ และตลาดน้ำมันโลกให้แกว่งตัวผันผวนรุนแรง
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลง จากเดิมที่คาดการณ์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะติดลบ 5.3% เป็นติดลบมากถึง 8.1% ถือว่าเศรษฐกิจตกต่ำติดลบมากกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540-41 สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 63 ลงอีกครั้งจากเดิมมองว่าจีดีพีโลกจะติดลบ 3% เป็นติดลบ 4.9% ซึ่งถือว่าหดตัวรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ Great depression ในปี 2472
ส่วนประเทศไทย IMF ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพี ว่าจะหดตัวเพิ่มขึ้นที่ติดลบ 7.7% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 6.7% ทั้งหมดนี้ล้วนมีปัจจัยสำคัญมาจากผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากกว่าที่คาด!!
และนับตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวสวิงขึ้น-ลงยิ่งกว่ารถไฟเหาะตีลังกาจากพิษโควิด-19 ไม่ต่างจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นทั่วโลก โดยหุ้นไทยดิ่งลงรุนแรงในวันศุกร์ที่ 13 มี.ค.63 ในช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงไปทั่วโลกและกดราคาน้ำมันโลกในตลาดล่วงหน้าให้ร่วงลงไปติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ดัชนีหุ้นไทยลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 969.08 จุด ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 9 ปี แต่หลังจากนั้นหุ้นไทยก็พลิกกลับปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรงและต่อเนื่องจนมาทำจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.63 ที่ระดับ 1,449.76 จุด ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือน มี.ค.มากกว่า 50% ได้อย่างไม่น่าเชื่อ!!
ทำเอาบรรดานักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมทั้งผู้จัดการตลาดหุ้น “ภากร ปีตธวัชชัย” ต้องออกโรงเตือน โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า หุ้นไทยที่วิ่งขึ้นมาอย่างร้อนแรงนั้น ถือว่าเป็นราคาที่สูงหรือแพงแล้ว เมื่อเทียบกับกำไรที่คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะทำได้ เรียกว่าธุรกิจสร้างกำไรได้ไม่ทันราคาหุ้นที่วิ่งแซงหน้าไปแล้ว ทำให้ P/E หรืออัตราส่วนของราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นปีนี้ พุ่งขึ้นมาถึง 20-22 เท่า หลังมีการปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนปีนี้ลงอย่างหนัก โดยคาดว่าจะติดลบมากกว่า 30%
แล้วทิศทางหุ้นไทยครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางความกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศ แต่อีกหลายประเทศทั่วโลกการระบาดยังไม่ถึงจุดพีกในระลอกแรก ราคาน้ำมันที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเพราะความต้องการใช้ลดลง ขณะที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังคงระรานก่อสงครามการค้ากับทั้งจีนและสหภาพยุโรปซ้ำเติมการค้าโลก
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้คุยกับ 2 กูรูตลาดหุ้น หนึ่งนายกสมาคมนักวิเคราะห์และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” อีกคน “วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล” กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเซียนฟันด์โฟล์ วิเคราะห์กระแสจับทิศทางการเงินโลกได้อย่างแม่นยำ ทั้ง 2 ท่านมีมุมมองต่อตลาดหุ้นครึ่งหลังของปีนี้อย่างไร เชิญติดตาม...
ไพบูลย์ นลินทรางกูร : มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงปรับตัวลงได้อีกเล็กน้อยในระยะสั้น เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรงในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล รัสเซีย อินเดีย ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเกิดขึ้นช้ากว่าที่เคยประเมินไว้
ล่าสุด IMF เพิ่งปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัวมากขึ้นเป็นลบ 4.9% โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วคาดว่าจะหดตัวถึงลบ 8.0% สำหรับไทยแม้สถานการณ์จะดีเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ความที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงถึง 70-75% แนวโน้มที่แย่ลงของเศรษฐกิจโลกจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย
ปัจจัยลบอื่นที่จะสร้างแรงกดดันต่อหุ้นไทยในระยะสั้น คือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะหดตัวราว 40% ในไตรมาสสอง และหดตัวมากกว่า 30% ตลอดทั้งปี ขณะที่จำนวนคนตกงานที่อยู่ในระดับสูงและแนวโน้มหนี้เสีย NPL ของธนาคารพาณิชย์ที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีก
“แต่ไตรมาส 4 มองว่าหุ้นไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจากสถานการณ์โควิดทั่วโลกที่น่าจะเริ่มเข้าสู่ขาลง ส่งผลให้มีการเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบเกือบทุกประเทศ นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนแล้ว จะช่วยให้นักลงทุนกล้ามองไปข้างหน้ามากขึ้น” ไพบูลย์ให้มุมมอง
ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดของจีพีดีในปี 64 ที่ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 5.4% สูงสุดในรอบ 10 ปี และเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 5.0% รวมทั้งการฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยที่คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่า 30% ในปี 64 คือปัจจัยสนับสนุนหลักสำหรับตลาดหุ้นไทยในไตรมาสสุดท้าย อีกปัจจัยบวก คือเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง น่าจะสร้างความมั่นใจได้มากพอสมควร
นอกจากนั้น การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเต็มที่ของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินสูงมากในระบบการเงินโลก ที่สำคัญเม็ดเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ไหลเข้าตลาดหุ้น ดูได้จากเม็ดเงินในกองทุนประเภทหุ้นทั่วโลกที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่เม็ดเงินในกองทุนประเภทเสี่ยงต่ำที่สุดอย่าง Money Market Funds (MMF) กลับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่าง ไทยมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน MMF มากถึง 150,000 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50%
“ผมมองว่าราคาหุ้นไทยปัจจุบัน ซื้อขายที่ค่าเฉลี่ย Forward P/E ปี 64 ที่ระดับ 16 เท่า ไม่ถือว่าแพงเกินไป เพราะอยู่ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา และถ้าเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ค่า P/E ปัจจุบันถือว่าถูกกว่าในอดีต การแสวงหาผลตอบแทนภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทั่วโลก และแรงขับเคลื่อนด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น น่าจะทำให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นกลับไปสู่ระดับ 1,450 จุดได้ภายในปลายปีนี้”
สำหรับหุ้นที่น่าสนใจในครึ่งปีหลัง คือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยจากโควิดหรือมีความเสี่ยงต่ำ หากเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 รวมทั้งมีความปลอดภัยจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่อาจกลับมาปะทุขึ้น ในก่อนช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เช่น กลุ่มค้าปลีก-อาหาร-ไอซีที ส่วนกลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง น่าลงทุน จากแนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
“แม้การลงทุนในหุ้นยังให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวและคุ้มค่าความเสี่ยงที่ต้องรับ แต่นักลงทุนควรยึดหลักกระจายความเสี่ยง เช่น เลือกลงทุนในหุ้นหรือกองทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการแพทย์ (Digital Health) ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และการศึกษาออนไลน์ เป็นต้น ผสานกับการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่น โดยทองคำยังเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่น่าสนใจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของหลายปัจจัยในปัจจุบัน” ไพบูลย์ให้คำแนะนำ
วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล : มองตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นก่อนหน้านี้ มาจากการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนของธนาคารกลางทั่วโลก และมาตรการการคลังของประเทศต่างๆที่มีเม็ดเงินรวมกันกว่า 15-16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเวลา 3-4 เดือน ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยขนาดเม็ดเงินมหาศาลนี้อาจใช้เวลามากกว่า 4 ปี ในการอัดฉีดในสมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 51 จึงทำตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นกว่า 30-50% ในช่วงเวลาเพียง 4 เดือนที่ผ่านมา และทำให้ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ P/E ที่ 20-21 เท่า สำหรับกำไรปี 63
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ทำ QE อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบการเงินแบบไม่จำกัดจำนวน และ FED ลดดอกเบี้ยนโยบายจนเหลือ 0% แต่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังคงทรุดตัวลง เห็นได้จากการที่ IMF ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงมาติดลบ 4.9% และยังยอมรับว่ามีโอกาสปรับลดลงมากกว่านี้ ขณะที่ ธปท.ได้ปรับลดจีดีพีไทยลงมาลบ 8.1%
ดังนั้นจึงคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 3 จะมีการแกว่งตัว Sideways ในกรอบที่กว้างมาก ตามปัจจัยการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางก่อนที่จะเริ่มแกว่งตัวลงในไตรมาส 4 โดยด้านเทคนิคให้กรอบแนวรับแรกของดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 3 ไว้ที่ระดับ 1,300 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward P/E 15.7 เท่า และอิงกับประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เฉลี่ยของตลาดปี 64 ที่ 83.5 บาท กรอบแนวรับสำคัญประเมินไว้ที่ 1,250 จุด ขณะที่ให้แนวต้านแรกไว้ที่ 1,400 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward P/E 16.8 เท่า ส่วนกรอบแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,450 จุด
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างมากในไตรมาส 3 เนื่องจาก Upside หรือการปรับขึ้นของราคาหุ้น ยังคงถูกจำกัดจากประเด็น Valuation หรือราคาหุ้นไทยที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้วในขณะนี้เป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีอานิสงส์จากสภาพคล่องจากภายนอกที่เอ่อล้นจากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางต่างๆ แต่ Flow หรือกระแสเงินทุนเหล่านั้นกลับเลือกที่จะไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยแทน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนแท้จริงที่น่าสนใจ โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อตลาดพันธบัตรไทยกว่า 60,000 ล้านบาทในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา อาจมองว่าเป็น “ดอลลาร์ แครี่เทรด” ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยนั้น คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะสนใจเป็นลำดับท้ายๆของเอเชีย จากการที่หุ้นไทยมี Valuation สูงสุด โดยตั้งแต่ต้นปีต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม Downside หรือการปรับลงของหุ้นไทย ยังได้รับการประคองจากสภาพคล่องของเงินภายในประเทศที่มีสูงมาก เป็นเงินทุนที่แสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากธนาคาร จึงเกิดปรากฏการณ์ Searching for Yields ของนักลงทุนรายย่อย รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกู้เอกชนรายย่อย จึงเฮละโลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น
นอกจากนั้น การที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ขยายเวลาการใช้มาตรการที่กำหนดเกณฑ์ราคาเสนอขายชอร์ต (Short Sell) โดยให้การขายหุ้น Short Sell เสนอขายได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick rule) โดยให้ขยายไปถึง 30 ก.ย.นี้ ช่วยลดแรงการขายหุ้น Short sell ในตลาดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
“เราไม่กังวลต่อผลประกอบการไตรมาส 2 เนื่องจากต่อให้แย่อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในคาดการณ์ของตลาดอยู่แล้ว และนักลงทุนก็อาจเลือกที่จะมองว่านั่นคือจุดต่ำสุด ตัวเลขจึงออกมาแย่ แต่เรากังวลกับผลประกอบการไตรมาส 3 ช่วงรอยต่อเดือน ก.ย.-ต.ค.มากกว่า หากบริษัทส่วนใหญ่รายงานผลดำเนินงานที่ไม่สามารถฟื้นตัวจากไตรมาส 2 ดัชนีจะปรับตัวลงแรงได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ได้คาดหวังไว้” วิศิษฐ์กล่าว
“วิศิษฐ์” ยังรวบรวมจุดเสี่ยงตลาดหุ้นไทยที่สำคัญในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ใน 7 ด้าน 1.ระดับการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางทั่วโลกที่อาจชะลอลง 2.ระดับการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ 3.การระบาดของโควิดรอบ 2 ที่อาจรุนแรงมากขึ้น หลังประเทศต่างๆเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง และสิ่งสำคัญ คือ หากต้องล็อกดาวน์ รอบ 2 หลายประเทศอาจไม่มีกระสุนเหลืออัดฉีดนโยบายการคลังเพิ่มเติม 4.ความผันผวนในช่วงใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 5.ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 ที่อาจไม่สามารถฟื้นจากไตรมาส 2 6.การหมดอายุของมาตรการ Uptick rule ในช่วงปลาย ก.ย. และ 7.คุณภาพสินเชื่อที่จะมีการถดถอย
ตลาดหุ้นไตรมาส 4 จึงมีความเสี่ยงขาลง (Downside risk) โดยอาจเห็นการปรับฐานอย่างจริงจังปลายไตรมาส 3 ประเมินกรอบแนวรับอยู่ที่ 1,200 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward P/E 14.6 เท่า แต่กรณีที่แย่ที่สุด ตลาดหุ้นอาจตอบสนองที่ระดับต่ำกว่า 1,200 จุดได้ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะต่ำกว่านั้นมากเพราะมีเหตุที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะโควิด-19 ซึ่งมีหลายประเทศยังไม่พ้นจุดสูงสุดของการระบาดระลอกแรก ทำให้การคาดการณ์ของกำไรต่อหุ้นมีโอกาสปรับลดลงต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยอาจใช้เวลากว่า 2.5-3 ปี เพื่อฟื้นตัวให้กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวรูปตัว U นักธุรกิจต้องมีสายป่านกระแสเงินสดที่ยาว และการลดดอกเบี้ยของ ธปท.อาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอาจนำไปสู่กับดักสภาพคล่อง ขณะที่มาตรการ ธปท. ในการให้ธนาคารพาณิชย์ทำ Stress test และตั้งการ์ดสูงเพื่อป้องกันการลุกลามจากการถดถอยของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่ให้ลุกลามมาสู่สถาบันการเงินถือเป็นเรื่องที่ดี!!
“แนะนำนักลงทุน ติดตามปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และควรลงทุนแบบจัด asset allocations กระจายการลงทุนแบบสมดุลในภาวะเงินฝืด (deflation) โดยแบ่งเป็นลงทุนหุ้นไทยเพียง 20% หุ้นต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศที่คุมโควิดได้ดี) 10% ทองคำ 10% ตราสารหนี้คุณภาพดี 30% และเงินสด 30%” วิศิษฐ์ทิ้งท้าย.
ทีมเศรษฐกิจ