ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 22 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,352.18 จุด ลดลง 18.64 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 65,772.37 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,106.15 ล้านบาท
หุ้นไทยถูกกดดันจากแรงขายหุ้นแบงก์ หลังแบงก์ชาติสั่งงดจ่ายปันผลงวดระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน โดย บล.ทรีนีตี้มองกดดันราคาหุ้นในเชิงจิตวิทยา แต่ผลกระทบจะจำกัดแค่ในส่วนปันผล และมองว่าผลประกอบการช่วงที่เหลือของปีกลุ่มธนาคารยังมีปัจจัยกดดัน ทั้งจาก NIM ที่จะอ่อนตัวลง และคุณภาพหนี้ที่อาจแย่ลง
จึงยังคงกลยุทธ์ Selective Buy โดยให้ BBL (TP 158 บาท) เป็น Top-pick เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ในสถานการณ์ปัจจุบัน บวกกับ Valuation ที่ยังถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ
บล.เคทีบีมีมุมมองเป็นลบต่อการงดจ่ายปันผลระหว่างกาล แม้จะช่วยให้เงินกองทุนแข็งแรงขึ้น แต่ระดับเงินกองทุนของกลุ่มปัจจุบันมีสูงถึง 17-21% มากกว่าขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 12%
มองนักลงทุนที่ถือหุ้นเพื่อรับปันผลจะขายทำกำไรออกมา โดยธนาคารที่จ่ายปันผลระหว่างกาลคือ BBL, KBANK, SCB และ KKP ซึ่งจะทำให้ dividend yield หายไป 0.5-3.4% ในปี 63 ขณะที่คาดว่า หุ้นที่จะปรับตัวลงเยอะจากมากไปน้อย เรียงตามอัตราเงินปันผลระหว่างกาลคือ KKP, SCB, BBL และ KBANK
ส่วนการประกาศให้งดการซื้อหุ้นคืน ไม่กระทบต่อแบงก์รายตัว เพราะก่อนหน้านี้ KBANK, TCAP ได้ซื้อหุ้นคืนครบทั้งจำนวนแล้ว ส่วน SCB ได้ยกเลิกการซื้อหุ้นคืนไปแล้ว ทั้งนี้ ในแง่ของ Valuation จะไม่กระทบต่อประมาณการ
โดยยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารเป็น “เท่าตลาด” มองหุ้น TISCO มีผลกระทบน้อยสุด ให้ราคาเป้าหมาย 88 บาท
บล.หยวนต้าเผยผลศึกษาการเคลื่อนไหวราคาหุ้นแบงก์ในอังกฤษ 4 แบงก์ใหญ่ ที่ประกาศงดจ่ายปันผลงวดผลประกอบการปี 63 ซึ่งเป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับมาตรการในประเทศอื่น ที่ให้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เพื่อประเมินการตอบสนองของราคาหุ้นกรณีเลวร้าย
พบว่า 1.วันแรกที่ประกาศงดปันผลประจำปี 63 ราคาหุ้นทั้ง 4 แบงก์ตอบสนองเชิงลบรุนแรงราว 7.3-13.2% 2.หุ้น 3 ใน 4 แบงก์มีการฟื้นตัว สู่ระดับราคา ก่อนการประกาศงดจ่ายปันผลค่อนข้างเร็ว ใช้เวลาเพียง 4-6 วัน 3.ผลตอบแทนเฉลี่ยสำหรับการลงทุน ตั้งแต่วันที่ประกาศงดจ่ายปันผลจนถึง 19 มิ.ย. อยู่ที่ 13.8% มีเพียง 1 แบงก์ที่ให้ผลขาดทุนราว 4.3%.
อินเด็กซ์ 51