ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ อ้างอิงจาก ตลาดดูไบ ที่เราใช้เป็นราคาอ้างอิงในการซื้อขายน้ำมันดิบ ในปีหน้า 2567 จะอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าที่เคยประเมินกันไว้ในช่วงที่เกิด สงครามยูเครน–รัสเซีย อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ ที่มีนโยบายในการควบคุมการผลิตน้ำมัน เพื่อที่จะรักษาระดับราคาน้ำมันเอาไว้ จากการเปลี่ยนแปลงในการหาโอกาสและแนวทางการปรับตัวของกลุ่มบริษัทพลังงาน ในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบ 45 ปีของการก่อตั้ง ปตท. ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่ในปัจจุบันไม่ใช่แค่การทำธุรกิจน้ำมันหรือก๊าซเท่านั้น แต่มีการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลังงานในอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โลกและความท้าทายในอนาคต ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะเศรษฐกิจของโลก และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค
แม้ความต้องการในการใช้น้ำมันจะยังเพิ่มขึ้นในปี 2567 จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป การใช้น้ำมันในธุรกิจการบิน ที่เป็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินหลังจากโควิด-19 การฟื้นตัวของจีน ที่เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การเติบโตในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ประสบกับวิกฤติหลายครั้งติดกัน ทำให้อุปทานน้ำมันเติบโตอย่างมีขีดจำกัด
ปีหน้า ความต้องการน้ำมัน จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่า ราคาน้ำมันดิบ จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการใช้พลังงานจากน้ำมันคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะต้องบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2050 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรโลก
ทั้ง อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และ บัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เห็นตรงกันว่า โลกยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก สงคราม อิสราเอลกับฮามาส ยังไม่มีจุดสิ้นสุด การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อยังจะมีต่อไป วิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเดินหน้าสู่ยุคพลังงานในอนาคต เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงาน ทั้งด้านความมั่นคง ความเป็นธรรม และสิ่งแวดล้อม
ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ เช่น การมองการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า กลยุทธ์และความท้าทายของการเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า การขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
ในที่สุดแล้ว ข้อมูลที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคงและมีศักยภาพ ก็ยังมีความสำคัญต่อกลยุทธ์และนโยบายของการเปลี่ยนแปลงในทุกครั้ง การเตรียมรับมือกับทุกสถานการณ์ไม่ใช่แค่ลดความเสี่ยงเท่านั้น
แต่เป็นการสร้างโอกาสเพิ่มศักยภาพใหม่ๆไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th