ไบโอดีเซลบี 100 ขุมพลังงานบนดิน

Investment

Oil

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไบโอดีเซลบี 100 ขุมพลังงานบนดิน

Date Time: 24 ส.ค. 2566 06:01 น.

Summary

  • กลุ่มไบโอดีเซลมีโรงงานอยู่ 15 บริษัท รายใหญ่ๆทั้งนั้นเพราะอุตสาหกรรมพลังงานคือความมั่นคงของประเทศ ถ้าไม่มีบี 100 เลย...ก็ไม่มีอะไรสำรอง สองปีที่แล้วเคยมีกระแสเกมกลบางอย่างพยายามให้มีกลุ่มขนส่งออกมาโจมตีไบโอดีเซลถึงขนาดว่าจะเอาไบโอดีเซลให้เป็นศูนย์...ไม่ต้องผสมไปกับดีเซลเลยสักหยด

Latest

ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ 20 พ.ย.2567 อัปเดตราคาน้ำมันทุกชนิดล่าสุดลิตรละกี่บาท

ปุจฉาราคากลางตามโครง สร้างน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 ลิตรละ 33.90 บาท...เพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันดีเซลนำไปผสมตามสัดส่วน ตั้งราคาตามกลไกตลาดขายให้กับผู้บริโภค...เป็นธรรมแล้วหรือยัง?

แน่นอนว่าเกษตรกรกลุ่มก้อนผู้ผลิตไบโอดีเซลต้นน้ำต้นทาง...ทุกคนย่อมก็หวังผลิตเพื่อให้ขายได้ ทั้งยังมีกำลังพอที่จะผลิตล้นความต้องการอยู่แล้ว แต่ก็ทำไม่ได้เพราะทำแค่ผลิตเท่าที่ขายได้เท่านั้น

อธิราษฎร์ ดำดี อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงน้ำมันปาล์มมาอย่างยาวนาน บอกว่า ตัวเลขศักยภาพการผลิตที่สามารถทำได้อยู่ที่เดือนละ 8 ล้านลิตร แต่ความต้องการใช้อยู่ที่เดือนละ 4 ล้านลิตร ก็ต้องผลิตเท่านั้นเพื่อไม่ให้ล้นตลาด

“...ไม่อย่างนั้นก็จะต้องยอมขายถูกๆ ไม่ได้ขายตามราคาโครงสร้างที่ระบุบอกกันไว้”

ตรงนี้ให้รู้ถึงเส้นทางกระบวนการ...ผู้ซื้อไปซื้อน้ำมันมาให้เราเติมตามปั้ม ผสม “ไบโอดีเซล” แล้วบอกว่า ขายน้ำมันดีเซลให้ลิตรละ 32บาทก็ไม่ได้ซื้อตามราคากลาง เพราะมีการตกลงกันตามราคาซื้อขายจริง

สมมติว่าซื้อไบโอดีเซลบี 100 มาที่ลิตรละ 30 บาท ถ้าโรงงานผลิตต้นทางอยากขายก็ต้องลงราคามาจะเอาราคากลางลิตรละ 33.90 บาท มาเป็นราคารับซื้อไม่ได้ แต่ว่าเวลามานั่งเคาะราคาขายปลายทาง ก็เอาราคากลางที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นคนเคาะ “บี 100” เท่าไหร่มาคำนวณเป็นต้นทุน

เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามเลยมีว่า...ธุรกิจผู้ค้าน้ำมันคงไม่ได้สะท้อนตัวเลขต้นทุนจริงๆในการทำธุรกิจ หากแต่ใช้ตัวเลขค่าคงที่เป็นที่ตั้งยืนยัน “ต้นทุน” สูงคงที่อยู่ตลอดหรือเปล่า?

“ตัวเลขที่เอามาแสดงเพื่อให้อยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงที่มีผลต่อรายได้เกษตรกรต้นน้ำโดยตรง เป็นการอ้างอิง...เป็นกลไกที่ผิดปกติ” อธิราษฎร์ ว่า

อธิราษฎร์ ดำดี
อธิราษฎร์ ดำดี

ปาล์มทลาย 1 ตัน 1,000 กิโลกรัม จะได้น้ำมันปาล์มดิบ 180 กิโลกรัม หรือ 18% ...ถ้าเป็นลิตรจะเพิ่มขึ้นได้น้ำมันปาล์ม 200 ลิตร...แล้วเวลาไปทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลจะได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 200 ลิตรแน่นอน

แต่ว่าโรงงานไบโอดีเซลก็จะมีค่าใช่จ่ายอื่นๆด้วยในกระบวนการผลิตที่เป็นต้นทุน... ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะเห็นภาพว่าราคาน้ำมันปาล์มกับราคาน้ำมันดีเซลเมื่อไม่ต่างกันมากอย่างในปัจจุบัน หากผู้ค้าน้ำมันซื้อน้ำมันปาล์มมาลิตรละ 31 บาท ขณะที่ราคาโครงสร้างอยู่ที่ลิตรละ 33.90 บาท ถามว่าเป็นธรรมหรือเปล่า?

...ก็มีส่วนต่างเห็นๆลิตรละ 2–3 บาทเข้าไปแล้ว

แสดงว่าราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่นำมาผสม ไม่ได้สะท้อนราคาตลาดจริงๆ แต่ทุกสถานการณ์ก็จะมีการอ้างว่า “ไบโอดีเซล” เพื่อเกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกร

ถามว่าทำไม? ราคาไบโอดีเซลสูงขนาดนี้ ถ้าคิดตามโครงสร้างไบโอดีเซลผลิตได้จากน้ำมันปาล์มดิบ ถัดมาก็คือไขปาล์ม...ทำเป็นไบโอดีเซลราคาถูกเกรดเมืองร้อนใช้ในเมืองหนาวไม่ได้ แต่ถ้าเป็นน้ำมันปาล์มที่พร้อมบริโภค RBD กลั่นแล้ว...ที่ตามโรงงานผลิตอาหารใช้อยู่ไปทำไบโอดีเซลราคาก็จะสูงมากขึ้น

ทำความเข้าใจต่อไปอีกว่า...โครงสร้างราคาไบโอดีเซลที่ว่านี้จะแตกต่างกันตามต้นทุนฐานที่เอาน้ำมันไบโอดีเซลตัวไหนมาทำ...ตรงนี้เองที่ทุกคนจะแจ้งว่าเอาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาทำไบโอดีเซล ราคาไบโอดีเซลก็จะขึ้นเป็นราคาสูง ก็กลายเป็นว่าทุกวันนี้ไม่มีใครแจ้งว่าเอาน้ำมันปาล์มที่มาจากวัตถุดิบราคาต่ำมาทำ

แจ้งเป็นน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์มาใช้เท่านั้น...เพื่อให้ราคากลางตามโครงสร้างสูงเข้าไว้

กลไกตรงนี้ไม่ชัดเจน...จะเห็นโรงงานไบโอดีเซลก็มีรถบรรทุกน้ำมันปาล์มดิบวิ่งเข้าไป แต่ไม่มีใครแจ้งเลยว่าเอาน้ำมันปาล์มดิบมาผลิตหรือถ้าไปแจ้งเดี๋ยวทำให้ราคากลางต่ำลงหรือเปล่า?

หลายๆโรงมีกระบวนการรีไฟน์ให้เป็นน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคได้ ต่อเข้าโรงไบโอดีเซล น่าจะเป็นเทคนิคทางการค้าเพื่อแสดงให้ต้นทุนมาจากน้ำมันพร้อมบริโภคแล้ว ทำให้ต้นทุนมีราคาสูง

“กลั่นให้เป็นน้ำมันพร้อมบริโภคแล้วส่งเข้าไปผลิตบี 100นอกจากนี้แล้วก็ยังมีบางโรงเป็นคอมเพล็กซ์ส่งเข้าไปเป็นปาล์มทลายแล้วก็ออกมาเป็นบี 100 ได้เลยหรือออกมาเป็นขวดใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้เลยก็มี...แต่ก็ไม่มีใครสักรายแจ้งว่าใช้น้ำมันปาล์มดิบเช่นเดิม”

แสดงว่าโรงไบโอดีเซลเขาขายได้ถูกก็ไม่โวยวาย เพียงแต่ไปหาเทคนิคช่วยให้ราคากลางสูงไว้ด้วยกระบวนการข้างต้นที่กล่าวมานี้เอง...อาจเป็นเทคนิคการโยกราคา ผลทำให้เกิดความยืดหยุ่นของราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากว่าเวลาขายน้ำมันไบโอดีเซลอย่างที่กล่าวไปข้างต้นจะถูกประมูลซื้อลดราคาจากราคากลาง

ก็เลยต้องพยายามดันราคาโครงสร้างไว้ด้วยการแจ้งต้นทุนการผลิตที่สูง ถึงตรงนี้อธิราษฎร์บอกอีกว่า เมื่อก่อนจะเห็นชัดเรื่องการกดราคาน้ำมันปาล์มจากเกษตรกร ด้วยว่ากำหนดให้ใช้ราคาเฉลี่ยที่ 2 สัปดาห์ที่แล้วในการคำนวณว่าสัปดาห์นี้ราคาบี 100 จะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ปัจจุบัน สนพ.น่าจะเห็นแล้วว่าเกิดข้อปัญหาก็เลยเอาราคาเฉลี่ยที่สัปดาห์เดียว ตัดปัญหาช่องว่างเทคนิคในการจัดซื้อบี 100 เพื่อให้โรงงานได้กำไร

ก็คือ...ราคาปาล์มเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วจะต้องลดให้ต่ำลงมา เพราะเวลาอ้างจะได้อ้างราคาถูกสวนทางกับเวลาผลิตจริงจะเอาตัวราคาต่ำในสัปดาห์ที่แล้วไปผลิต สิบกว่าปีที่แล้วกลไกลับลวงพรางจะเป็นเช่นนี้

ผลทำให้ผู้ประกอบการทุกคนต้องไปอาศัยเทคนิคชิงไหวพริบในการประกอบกิจการเอาเอง แต่ว่าผู้ซื้อน้ำมันไปผสมเป็นน้ำมันตามปั๊มจะใช้เทคนิคการประมูลราคา ใครให้ราคาต่ำก็จะซื้อรายนั้น

เน้นถูกที่สุด...แน่นอนว่าเกษตรกรตัวจริงไม่เคยได้เจอราคาจริงเลยก็ว่าได้

แม้ว่าเกษตรกรสวนปาล์มจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่นี้เลยโดยตรง แต่ก็ถูกหยิบเป็นเหตุผลข้ออ้างอยู่ตลอดเพราะเป็นต้นทางผู้ปลูกปาล์ม วันนี้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ ราคาปาล์มทลายสูงกว่าก่อนกิโลกรัมละ 2 บาทขึ้นมาอยู่ที่ 5-6 บาท ปีที่แล้วทุกคนก็โชคดีหมด...ราคาตลาดโลกสูงส่งออกดี ราคาพุ่งถึงกิโลกรัมละ 7-8 บาท

ราคา “ไบโอดีเซล” มีผลต่อราคา “น้ำมันดีเซล” ถ้ามองกันจริงๆ หากไบโอดีเซลจะปรับสัดส่วนผสมรับได้แค่ไหน รัฐจ่ายช่วยอุ้มไม่ไหวแล้วก็ต้องมาดูว่าจะต้องปรับลดในส่วนใด เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

กลุ่มไบโอดีเซลมีโรงงานอยู่ 15 บริษัท รายใหญ่ๆทั้งนั้นเพราะอุตสาหกรรมพลังงานคือความมั่นคงของประเทศ ถ้าไม่มีบี 100 เลย...ก็ไม่มีอะไรสำรอง สองปีที่แล้วเคยมีกระแสเกมกลบางอย่างพยายามให้มีกลุ่มขนส่งออกมาโจมตีไบโอดีเซลถึงขนาดว่าจะเอาไบโอดีเซลให้เป็นศูนย์...ไม่ต้องผสมไปกับดีเซลเลยสักหยด

การแก้ปัญหา “ราคาน้ำมัน” ต้องมองความสมดุลของระบบให้มีความยืดหยุ่นทันสมัย ปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ ที่สำคัญ...แต่ละกลุ่มของผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ต้องออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจน ที่แท้จริง...ซื่อตรงโดยเฉพาะราคาโครงสร้างน้ำมัน ต้องให้ความกระจ่างได้ทุกบาททุกสตางค์

อนาคต “น้ำมันปาล์ม” จะเป็นน้ำมันพื้นฐานสำหรับน้ำมันเครื่องที่เป็นน้ำมันหล่อลื่น จารบีเกรดอาหาร น้ำมันหม้อแปลงชีวภาพ น้ำมันเครื่องบินชีวภาพ น้ำมันดีเซลคลีนดีเซลจริงๆเพื่อสิ่งแวดล้อม น้ำมันปาล์มจะสำคัญมาก...นำไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นลิตรละ 1,000บาทได้

ที่สำคัญ “ไบโอดีเซล” จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาไปเป็นสิ่งต่างๆ อนาคต “ไบโอดีเซล” เพิ่มมูลค่าต่อยอดได้มากมายมหาศาล สืบสาน ต่อยอด “พลังงานบนดิน” ให้ยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านพลังงานประเทศไทยให้มีความมั่นคงได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ