แก้ลำกู้ 1.5 แสนล้านบาท ผิดกฎหมาย ครม.วาระลับออก พ.ร.ฎ.แก้วงเงินกองทุนน้ำมัน

Investment

Oil

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แก้ลำกู้ 1.5 แสนล้านบาท ผิดกฎหมาย ครม.วาระลับออก พ.ร.ฎ.แก้วงเงินกองทุนน้ำมัน

Date Time: 28 ก.ย. 2565 08:08 น.

Summary

  • “กฤษฎีกา” ชงวาระลับให้ ครม.ทำเรื่องกู้เงินกองทุนน้ำมันฯให้ถูกกฎหมาย โดยออก พ.ร.ฎ. เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนจาก 4 หมื่นล้านเป็น 1.7 แสนล้านบาท รองรับการอนุมัติให้กู้เงินเสริมสภาพคล่อง

Latest

ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ 20 พ.ย.2567 อัปเดตราคาน้ำมันทุกชนิดล่าสุดลิตรละกี่บาท

“กฤษฎีกา” ชงวาระลับให้ ครม.ทำเรื่องกู้เงินกองทุนน้ำมันฯให้ถูกกฎหมาย โดยออก พ.ร.ฎ.เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนจาก 4 หมื่นล้านเป็น 1.7 แสนล้านบาท รองรับการอนุมัติให้กู้เงินเสริมสภาพคล่อง และเพิ่มเพดานการกู้จาก 2 หมื่นล้านเป็น 1.5 แสนล้าน พร้อมแก้ไข พ.ร.ก.กำหนดให้กู้ได้ภายใน 1 ปี จากนั้นให้กลับสู่สภาพเดิม ด้าน สศช.ชี้อาจไม่ต้องกู้เต็ม เพราะราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า วานนี้ (27 ก.ย.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาวาระลับ โดยหลังการพิจารณาเสร็จสิ้นให้เก็บเอกสารกลับทั้งหมด โดยได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนและกรอบวงเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. ... และร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ...ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

ทั้งนี้ สาระสำคัญของเรื่องนี้ในส่วนของพระราชกฤษฎีกา แบ่งเป็น 2 ส่วนคือในส่วนแรกเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนและกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่ออกเมื่อปี 2564 โดยมีกรอบวงเงินที่เป็นเพดานวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ให้แก้ไขเพดานวงเงินกองทุนไม่เกิน 170,000 ล้านบาท

ขณะที่ในส่วนที่สองคือการแก้ไขกรอบวงเงินกู้ที่ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯสามารถดำเนินการกู้เงินได้จากเดิมที่พระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่ได้มีกำหนดเพดานการกู้เงินไว้ที่ 20,000 ล้านบาทให้แก้ไขเป็นสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับการออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯไม่เกิน 150,000 ล้านบาท ที่ ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เมื่อครบเวลา 1 ปีให้ร่างพระราชกฤษฎีกาฯเป็นอันยกเลิกและให้กรอบวงเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกรอบวงเงินกู้กลับไปอยู่ที่เดิม คือ มีวงเงินกองทุน ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และวงเงินกู้เกิน 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้เพิ่มเติมเนื้อหาของร่างพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ฯ โดยได้กำหนดให้ลงนามในสัญญาค้ำประกันเงินกู้ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และมีวงเงินรวมไม่เกิน 150,000 ล้านบาทและกำหนดให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีหน้าที่ชำระหนี้คืนจนครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กระทรวงคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม.

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าร่างพระราชกฤษฎีกาเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯในวันนี้ เป็นขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการกู้เงินได้ตามที่กองทุนน้ำมันฯต้องการในวงเงินที่กระทรวงการคลังจะค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 150,000 ล้านบาท โดยการดำเนินการกู้เงินต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยการกู้เงินอาจจะไม่เต็มวงเงิน 150,000 ล้านบาทก็ได้ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงแล้ว ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันลดลงก็จะมีความจำเป็นในการกู้เงินน้อยลงด้วย

วันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ดังนี้

1.แผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท ได้แก่ การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล 819,765.19 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการของรัฐบาล ส่วนที่เหลือเป็นการให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง ขณะที่การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ รวม 233,020.28 ล้านบาท

2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้การบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม

3.แผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 คาดว่า จะอยู่ที่ 60.43 % ซึ่งยังอยู่ใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 70% ต่อจีดีพี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ