รัสเซียรบยูเครน ซ้ำ! ค่าครองชีพไทย

Investment

Oil

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัสเซียรบยูเครน ซ้ำ! ค่าครองชีพไทย

Date Time: 17 มี.ค. 2565 05:50 น.

Summary

  • ทั่วโลกจับจ้อง “ปฏิบัติการทางทหารรัสเซีย” ระดมฝูงบินทิ้งระเบิดโจมตีหนุนทหารบกปิดล้อมรุกคืบเข้าใกล้ “กรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน” สร้างความตึงเครียดทวีความรุนแรงยืดเยื้อหลายสัปดาห์

Latest

ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ 12 ต.ค.2567 อัปเดตราคาน้ำมันทุกชนิดล่าสุดลิตรละกี่บาท

ทั่วโลกจับจ้อง “ปฏิบัติการทางทหารรัสเซีย” ระดมฝูงบินทิ้งระเบิดโจมตีหนุนทหารบกปิดล้อมรุกคืบเข้าใกล้ “กรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน” สร้างความตึงเครียดทวีความรุนแรงยืดเยื้อหลายสัปดาห์

ท่ามกลาง “นานาชาติ” พร้อมใจกันใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียขับออกจากการค้าโลก และระบบ SWIFT ไม่อาจโอนเงินข้ามประเทศได้จนกระทบต่อการค้า...การลงทุน แต่ก็ไม่เป็นผล “รัสเซีย” ยังคงเดินหน้าโจมตีหนักขึ้น จนทำให้ “โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ต้องประกาศห้ามนำเข้าน้ำมัน และพลังงานของรัสเซีย

ผลตามมาราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 5.4% อยู่ที่ 129.91 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว “ส่อแววกระทบเศรษฐกิจโลกหนักกว่าเดิม” เพราะรัสเซียส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อยู่อันดับ 3 ของโลก ที่มีการส่งออก 11% การส่งออกทั่วโลกแม้แต่ “ยุโรป” ก็นำเข้าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันรัสเซีย 1 ใน 3 ถ่านหิน 1 ใน 2 ที่ใช้อยู่

ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว “น้ำมันดิบคงผันผวน” ทำให้ประเทศนำเข้าอย่าง “ประเทศไทย” มีการปรับน้ำมันขายปลีก 1 บาท/ลิตร และไม่เท่านั้นตกเย็นประกาศปรับเบนซิน 80 สตางค์/ลิตร มีผลวันที่ 10 มี.ค. ราคาเบนซินออกเทน 47.56 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 40.15 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 39.88 บาท ส่วนกลุ่มดีเซลราคาเดิม

สัญญาณสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้น้ำมันโลกขยับรายวันนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หน.นักเศรษฐศาสตร์ บ.หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บอกว่า การสู้รบของรัสเซีย-ยูเครนอยู่อีกซีกโลกห่างไกลจากไทยมากจนไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งการส่งออกของไทยไปรัสเซีย และยูเครนก็มีน้อยไม่ถึง 1% การส่งออกทั้งหมด

ผลพวงทำให้กระทบมาถึงไทยได้มาจาก “ยุโรป” ที่เป็นตลาดค้าขายส่งออก เพราะเมื่อใด “รัสเซียขัดแย้งยุโรปอย่างหนักจนทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่” ก็มีโอกาสส่งผลให้การส่งออกน้อยลง

สิ่งน่าสนใจกว่านั้น “ไทยเสี่ยงเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ” เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญทั้งน้ำมันดิบ ถ่านหิน พาลาเดียม แพลทินัม ทองแดง แร่เหล็ก และส่งออกข้าวสาลี ปุ๋ยเคมี ดังนั้นมาตรการแซงก์ชันมีผลให้สินค้าขาดแคลนกระทบต้นทุนผลิตภาคอุตสาหกรรม อาหารสัตว์ การเกษตรขยับขึ้นหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถัดมา “การท่องเที่ยวไทย” ก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคนแล้ว 6 ล้านคน คิดเป็น 15% เป็นชาวยุโรป และรัสเซีย เมื่อมีโรคระบาดนักท่องเที่ยวจีนหายไป 100% เหลือยุโรป 2 แสนคน รัสเซีย 2 แสนคน

เมื่อ “รัสเซียถูกแซงก์ชัน” ค่าเงินรูเบิลรัสเซียอ่อนค่าลง 1 รูเบิลเท่ากับ 0.25 บาท “คนรัสเซียเข้ามาไทยอาจมีค่าใช้จ่ายแพงขึ้น 2 เท่า” ความคาดหวังว่า “เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นปีนี้” ก็ขยายออกไปปีหน้าแทน

ในส่วน “ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น” มีปัจจัยจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกรองจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย “ตัวเลขทั่วโลก” ผลิตใช้น้ำมัน 100 ล้านบาร์เรล/วัน แล้วรัสเซียส่งออก 8 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 8% จำนวนนี้จีนซื้อ 20% และ 60% ส่งไปยุโรป หากน้ำมันนี้หายไปโลกจะหาอุปทานจากไหนมาทดแทน

แน่นอนถ้า “ยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย” ต้องขาดแคลนน้ำมันจำเป็นต้องหาแหล่งน้ำมันใหม่มาทดแทน เพราะแม้แต่ “สหรัฐฯ” ออกมาตรการแซงก์ชันไม่นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแล้วก็ยังหันมาคืนความสัมพันธ์กับศัตรูเก่าอย่าง “อิหร่าน” อันเป็นการปูทางผ่านเข้าหา “เวเนซุเอลา” ที่เป็นประเทศมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก

ปัญหาว่า “ยุคนี้นักธุรกิจด้านน้ำมัน” ต่างกังวลการลงทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงจาก “ภาวะโลกร้อน” เสี่ยงการลดใช้น้ำมันจนกู้เงินลงทุนได้ไม่ทัน ดังนั้น “ทั่วโลก” เริ่มหาพลังงานทดแทนแล้ว “รัสเซีย” เป็นประเทศต้นกำเนินพลังงานธรรมชาติมากสุดของโลก “ยุโรป” นำเข้าพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย 1 ใน 3 ปริมาณใช้ทั้งหมด

สิ่งนี้เป็น “อาวุธทางเศรษฐกิจของรัสเซีย” มักนำมาขู่ตอบโต้จะปิดท่อก๊าซธรรมชาติจนยุโรปไม่กล้าต่อกรด้วยกลัวหยิกเล็บเจ็บเนื้อ เช่น เยอรมนี ยุโรปตะวันออกฝืนคว่ำบาตรอาจเจอแบล็กเอาต์ไม่มีก๊าซใช้ทั่วประเทศ แต่ก็เชื่อว่า “รัสเซียไม่อยากทำเช่นนั้น” เพราะเศรษฐกิจประเทศพึ่งพารายได้ การส่งออกก๊าซธรรมชาติ 30%

ในส่วน “อังกฤษกล้าคว่ำบาตรรัสเซีย” เพราะภูมิประเทศห่างไกลแถมนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียน้อย แล้วปัญหานี้ “สหรัฐฯ เอนจอยที่สุด” ได้ผลประโยชน์ส่งออกน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น

จริงๆ แล้ว “ไทยนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 3-4%” ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับสูงขึ้นผลพวงจาก “ราคาน้ำมันตลาดโลกแพงขึ้น” เพราะความกังวลในมาตรการคว่ำบาตรเกรงว่า “น้ำมันรัสเซียหายไปจากตลาด” ผู้คนหันมาซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่น เพื่อลดความเสี่ยงน้ำมันขาดแคลน

กลายเป็นตัวเร่งให้ “ต่างคนต่างหาแหล่งน้ำมันมากักตุนคลังสำรองของประเทศ” จนเกิดการแย่งชิงพร้อมกัน “ราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้น” เช่นนี้แม้ซื้อน้ำมันในประเทศใดมักยึดราคากลางจนกระทบเท่าเทียมกัน

แล้วด้วย “ไทยนำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลัก” เมื่อตลาดค้าน้ำมันต่างประเทศขึ้นราคาสูงมาก “ไทย” ก็ต้องอ้างอิงขยับตาม ขณะที่ “ปัจจัยบวกราคาเพิ่มในประเทศ” ทั้งเรื่องการตรึงราคาน้ำมัน ส่วนผสมไบโอดีเซล (บี 100) อัตราภาษีสรรพสามิต และค่าการตลาด ทำให้ราคาขายปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างที่เป็นอยู่นี้

แนวโน้มอนาคตยิ่ง “มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเข้มข้นมาก” ก็ทำให้ซัพพลายของน้ำมันหายจากตลาดมากเท่านั้น “คนไทย” อาจเห็นราคาน้ำมันจากตอนนี้ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็น 150-200 ดอลลาร์/บาร์เรลก็ได้

คิดง่ายๆ ราคาน้ำมันโลก 110 ดอลลาร์/บาร์เรล ไทยขายปลีก 40 บาท/ลิตร ถ้าน้ำมันโลก 200 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็มีโอกาสปรับขึ้น 80 บาท/ลิตรได้ ผลคือ “สินค้าอื่นปรับขึ้นราคา” ล่าสุดเงินเฟ้อไทยอันเกี่ยวกับราคาสินค้าหลักมาจากราคาน้ำมัน...อาหารโดยเฉพาะเนื้อหมู ในเดือน ก.พ.พุ่งทะลุ 5.08% เมื่อเปรียบกับปี 2021

“ตัวเลขนี้เป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่ปี 2008 คราวนั้นน้ำมันไม่ถึง 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ตอนนี้ตัวเลขสูง 110 ดอลลาร์/บาร์เรล แม้หักอาหารสด และพลังงานออกแล้วเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำมานาน ก็ขยับสูงขึ้นไปเกือบ 2% สูงที่สุดในรอบหลายปี แล้วก็เชื่อว่าเดือน มี.ค.เงินเฟ้อน่าจะปรับเพิ่มสูงกว่านี้อีก” ดร.พิพัฒน์ว่า

ตอกย้ำชนวนสู่ “สงครามโลกครั้งที่ 3” ในเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก สังเกตจาก “นาโต” พยายามไม่ยุ่งความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย “ยูเครนไม่ใช่สมาชิก” แล้วปฏิเสธการช่วยเหลือไม่เอาตัวไปเสี่ยงกับประเทศไม่เป็นสมาชิกนั้น เพราะรู้ดีหากสนับสนุนอาจก่อสงครามใหญ่ บานปลายเป็นการสู้รบหลายประเทศอาจจบด้วยอาวุธนิวเคลียร์แน่ๆ

แต่ด้วย “รัสเซีย” เดินมาไกลเกินกว่าจะถอนกำลังทหารได้ต้อง “ยึดยูเครนให้จบ” และเชื่อว่า “ยูเครน” อาจตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นสู้ต่ออีก เมื่อเช่นนี้ “ชาติตะวันตก” ก็ไม่ยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรคงทำให้ซัพพลายน้ำมันของรัสเซียออกสู่ตลาดไม่ได้ แล้วไม่สอดคล้องความต้องการคงทำให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นอยู่ดี

ประการนี้แล้ว “แนวทางการแก้วิกฤติน้ำมันแพง” คงไม่อาจทำอะไรได้มาก ด้วยปัจจัยสาเหตุมาจาก “ต้นทุนของต่างประเทศแพง” แต่นโยบายอาจเหมาะสมผ่อนคลายได้มีอยู่ 3 ประการ คือ 1.เปิดการแข่งขันเสรีไม่ผูกขาด 2.ตรวจสอบผู้กักตุนหวังประโยชน์ราคาเพิ่มสูงขึ้น 3.ช่วยเหลือตามสมควรในกลุ่มเปราะบาง

เพราะตอนนี้ “รัฐบาล” อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรแล้วเข้าใจว่าใช้งบประมาณมหาศาลเฉลี่ยลิตรละ 11 บาท ใน 1 วันมีการใช้อยู่ 60 ล้านลิตร นั้นคือมีต้นทุน 600 กว่าล้านบาทแล้ว 1 เดือน มีการใช้เงินอุดหนุน 2 หมื่นล้านบาท ถ้าราคาน้ำมันยังสูงแบบนี้ทั้งปีต้นทุนการอุดหนุนน้ำมันดีเซลอยู่ที่เกือบ 2 แสนล้านบาท

คิดดูว่าจำนวนเงิน 2 แสนล้านบาทนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์พัฒนาประเทศได้มหาศาลด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ “รัฐบาล” ต้องมาคิดหนักว่า “ประเทศไทยมีเงินพอต่อการอุดหนุนต่ออีกหรือไม่” ฉะนั้นอาจต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัวบางส่วน หรือออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเหมาะดีกว่าการตรึงราคาไว้เช่นนี้

ด้วยข้อสังเกต “คนใช้รถหรูเติมน้ำมันดีเซลมากมาย” ในยาม “วิกฤติน้ำมันแพง เงินในประเทศมีจำกัด” การอุดหนุนลิตรละ 11 บาท เพื่อทุกคนอาจไม่ใช่วิธีที่ดีสุด ดังนั้นควรช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มขนส่งไปก่อน มิเช่นนั้นเราอาจต้องกู้เงินใหม่ เพื่อมาตรึงราคาน้ำมันเป็นภาระหนี้สาธารณะผลักสู่ลูกหลานต่อไปก็ได้

วิกฤตินี้ลากยาวหนักแน่ๆ “ไม่ใช่เฉพาะราคาน้ำมันรับผลกระทบแต่ยังรวมถึงต้นทุนภาคการเกษตร” อันเป็นห่วงโซ่สำคัญฉุดค่าครองชีพเพิ่มขึ้นแล้ว “รัฐบาล” อาจต้องรับภาระดูแลช่วยเหลือสูงตามด้วย “งบประมาณจำกัด” ก็ควรต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดคุณค่าสูงสุดด้วย...


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ