ภาวะ “ตื่นทอง” เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2567 ที่ผ่านมา หลังราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากต้นปีที่ราคาต่างประเทศอยู่ที่ 2,063 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และราคาทองคำในประเทศอยู่ที่บาทละ 33,500 บาท ก่อนที่จะขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 2,785 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และราคาทองคำแท่งขึ้นไปที่ 44,400 บาทต่อบาททองคำ
ทำให้เกิดความหวังว่า ในปี 2568 ที่ราคาทองคำจะขึ้นไปทำสถิติที่ 3 พันดอลลาร์ หรือ 5 หมื่นบาทต่อบาททองคำได้หรือไม่ แต่หลังจาก Thairath Money ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำ กลับพบว่าอาจจะไม่เกิดขึ้นง่าย เพราะปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลง ทั้งนโยบายการเงินของสหรัฐที่ดอกเบี้ยอาจปรับลดลงน้อยกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ราคาทองคำอาจต้องปรับฐานลง
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า ราคาทองคำในปี 2568 น่าจะปรับตัวขึ้นได้ต่อ โดยมองเป้าหมายที่ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และราคาทองคำในประเทศลุ้นบาทละ 5 หมื่นบาท
ทั้งนี้ CEO ของ YLG กล่าวว่าช่วงเดือน พ.ค. 2567 ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้หยุดการซื้อสะสมทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ หลังจากที่ซื้อติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2564 เป็นระยะเวลา 18 เดือน อย่างไรก็ดีในช่วงที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้หยุดทำการสะสมทองคำ จากนั้นราคาทองคำก็ยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องสามารถขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 2,790 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์
จนกระทั่งเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ราคาทองคำได้สลับมาปรับฐานลง ส่งผลให้ PBOC ได้กลับเข้ามาซื้อทองคำอีกครั้ง หลังจากหยุดพักไปเป็นเวลา 6 เดือน โดยเข้าซื้อที่จำนวน 1.6 แสนทรอยออนซ์ ส่งผลให้มีทองคำสะสมอยู่ที่ 72.96 ล้านทรอยออนซ์ อ้างอิงข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า PBOC ได้หยุดซื้อเมื่อราคาทองคำเริ่มปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูง และกลับมาเข้าซื้อเมื่อราคาเริ่มปรับลดลงมา จึงคาดว่า PBOC ไม่ได้มีนโยบายหยุดซื้อทองคำเพียงแต่รอจังหวะที่เหมาะสม และนับเป็นการยอมรับในระดับราคาดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการเริ่มเข้าสะสมทองคำของธนาคารขนาดใหญ่เช่น จีน อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกอีกหลายแห่งดำเนินนโยบายตามรอย เนื่องจากการกระทำของ PBOC ครั้งนี้ อาจจะเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายกีดกันการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะตอบโต้กลุ่มประเทศที่ต่อต้านเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นผลให้ประเทศที่ตกเป็นเป้านโยบายต้องทำการเคลื่อนไหวเพื่อสะสมสินทรัพย์ปลอดภัย ดังนั้นการที่นักวิเคราะห์จากธนาคารชั้นนำหลายแห่งตั้งเป้าหมายว่าปี 2568 ทองคำจะยังคงพุ่งไปถึงเป้าหมาย 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์นั้น จึงยังคงเป็นไปได้แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงก็ตาม
ส่วนราคาทองคำในประเทศไทยนั้น YLG มองว่าปี 2568 จะมีโอกาสไปถึง 50,000 บาทต่อบาททองคำตามเดิม เนื่องจากไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ จึงตกเป็นประเทศเป้าหมายที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะดำเนินการด้านนโยบายภาษีนำเข้า จึงอาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยปีหน้าเคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่า และส่งผลดีต่อราคาทองคำในประเทศ
นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก ประเมินว่า ทิศทางราคาทองคำในปี 2568 นั้นมองว่าจะไม่ใช่ขาขึ้นของราคาทองคำ เพราะตามสถิติของทองคำ ราคามักจะไม่ขึ้น 3 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เดินหน้า American First ที่จะมีผลให้กับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามากขึ้น จะกดดันต่อทิศทางราคาทองคำโดยตรง
“ปี 2568 ผลตอบแทนของทองคำเรามองว่าจะไม่เป็นบวก เพราะตามสถิติไม่มีปีไหนที่ขึ้น 3 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ การขึ้นดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ให้แข็งค่ามากขึ้น”
ปัจจัยที่จะมีผลกับราคาทองคำในปี 2568 นั้นคือ การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ที่เดิมคาดว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ อาจจะเหลือเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น
ส่วนความไม่สงบในระหว่างประเทศ เช่นในยูเครน กับ รัสเซีย และอิสราเอลยังเป็นปัจจัยที่รองลงมา แต่หากมีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่กดดันกับภาพรวมของตลาดได้
อย่างไรก็ตามมองกรอบราคาทองคำในปี 2568 จะอยู่ที่ 2,430 - 2,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในขณะที่ราคาทองคำในประเทศจะอยู่ที่บาทละ 42,100 - 44,000 บาทต่อบาททองคำ โดยผู้ที่มีทองคำอยู่แนะนำทยอยขายทำกำไร ส่วนผู้ที่สนใจเข้าลงทุนทองคำ ให้รอจังหวะในการอ่อนตัวลง
เอกราช ศรีศุภวิชากิจ ผู้อำนวยการอาวุโส และผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจดิจิทัลและออนไลน์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า การลงทุนในทองคำปี 2568 นั้น เป็นปีที่น่าสนใจ โดยจะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก หลักๆ มาจากแต่ละประเทศต้องการสร้างความน่าเชื่อถือของค่าเงินตนเองในการค้าโลก ทั้งการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและนโยบายการเงินระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มบริกส์ (BRICS) ทำให้มีแรงซื้อขนาดใหญ่จากธนาคารกลางในประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตาม หากราคาทองคำสามารถยืนได้ที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประเมินเชิงเทคนิคัลในระยะกลาง 1-3 ปี ราคาทองคำโลกมีโอกาสปรับตัวขึ้น แตะที่ระดับ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนราคาทองคำไทยมีโอกาสไปถึง 50,000 บาทต่อบาททองคำ บนสมมุติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยย้อนหลัง 20 ปี (ไม่นับรวมวิกฤติต้มยำกุ้ง) ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับนักลงทุนที่มีทองคำอยู่ในพอร์ตแนะนำให้ถือต่อได้ แต่หากยังไม่มีทองคำแนะนำให้รอราคาย่อตัวเพื่อหาจังหวะเข้าซื้อ