ราคา “ทองคำ” ผันผวน ขึ้นแรง-ลงเร็ว เพราะอะไร นักลงทุนหน้าใหม่ คาดการณ์ ราคาทอง ต้องดูอะไรบ้าง?

Investment

Gold

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ราคา “ทองคำ” ผันผวน ขึ้นแรง-ลงเร็ว เพราะอะไร นักลงทุนหน้าใหม่ คาดการณ์ ราคาทอง ต้องดูอะไรบ้าง?

Date Time: 26 พ.ย. 2567 13:51 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ลงทุนทองคำ ภายใต้ "ราคาทอง" ผันผวน ขึ้นแรง - ลงเร็ว ต้องรู้ปัจจัยอะไรบ้าง ? เปิด 5 ตัวแปร ใช้ คาดการณ์ราคาทองคำในอนาคต ฉบับมือใหม่ เพิ่งหัดเริ่มลงทุน

Latest


การออมทอง ที่สามารถเลือกออมเป็น “เงินก้อน” หรือทยอยสะสมทีละเล็กละน้อยก็ได้นั้น ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทองคำหน้าใหม่ ที่แม้ไม่มีเงินมากก็สามารถเริ่มลงทุนทองได้ ภายใต้การคาดการณ์ว่า “ราคาทองคำ” ในปี 2568 มีโอกาสพุ่งขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี วานนี้ต่อเนื่องวันนี้ ราคาทองคำในประเทศอยู่ในภาวะผันผวนอย่างมาก ราคาปรับขึ้น-ลงมากถึง 28 ครั้ง หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นแรงถึง 1,900 บาท

ภายใต้ราคาทองคำตลาดโลกดีดบวกจากฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” อาจขยายวงกว้างมากขึ้น ขณะช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ราคาทองคำไทยก็เคยพุ่งไปแตะที่ระดับสูงสุด 44,550 บาท ตอกย้ำคาดการณ์เราอาจได้เห็นราคาทองในปีหน้าไปแตะบาทละ 50,000 บาทต่อบาททองคำ

ก่อนช่วงเช้าวันนี้ ราคาทองเปิดตลาดร่วงลงอย่างแรง รอบแรกปรับลด 500 บาท ก่อนไม่กี่นาทีถัดมาลดลงอีก 50 บาท และลงอย่างต่อเนื่อง 4 ครั้ง ก่อน 13.09 น. ปรับขึ้นมา 50 บาท ส่งผลให้ราคาทองล่าสุด ณ เวลา 13.25 น. ทองคำแท่งขายออกบาทละ 43,150 บาท ส่วนทองรูปพรรณอยู่ที่ 43,650 บาท 

ทั้งนี้ ราคาทองที่ลดลง มาจากราคาทองโลกปรับตัวร่วงแรง 90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นักลงทุนเทขาย หลังจากอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ คลายความกังวลเรื่องสงครามรุนแรง ขณะอีกปัจจัยที่น่าจับตามองคือ การนัดประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่ารอบนี้อาจมีความเป็นไปได้ที่ FED จะปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐลงอีก 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. นี้

5 ปัจจัย กำหนดทิศทาง "ราคาทองคำ"

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการขึ้นและลงของ “ราคาทองคำ” ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในช่วงเวลานั้นๆ ทำให้นักลงทุนต้องมีความรู้และกลยุทธ์ในการลงทุนทองคำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุน เพราะแม้ทองคำจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่แม้ย้อนหลัง 10 ปี จะเห็นว่าราคาทองคำสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ก็เต็มไปด้วยความผันผวนของราคาเช่นกัน

ซึ่งสำหรับมือใหม่ การคาดการณ์ราคาทองคำในอนาคตจะเป็นอย่างไร? และตามหลักการต้องติดตามปัจจัยอะไรบ้าง? นั้น ข้อมูลแนะนำจากธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เราสามารถคาดคะเนของการขึ้นและลงของราคาทองคำได้จาก 5 ปัจจัย ดังนี้

  1. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การซื้อขายทองคำในตลาดโลกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่ออ้างอิงราคาทองคำต่อออนซ์ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินสกุลดอลลาร์จึงส่งผลโดยตรงต่อราคาทองคำ หลักการคาดการณ์ราคาทองคำก็คือ หากค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น แต่หากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาทองคำก็จะลดลง
  2. นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะนโยบายจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed คือข้อมูลสำคัญในการคาดการณ์ราคาทองคำของนักลงทุน หากเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถรับมือกับเงินเฟ้อได้ ราคาทองคำก็จะปรับลง แต่ถ้าประกาศลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ก็มีแนวโน้มที่ราคาทองจะปรับตัวขึ้น
  3. อัตราเงินเฟ้อ ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่เอาชนะเงินเฟ้อได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้มูลค่าเงินลดลง นักลงทุนจึงหันไปซื้อทองคำมาเก็บไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ นักลงทุนจึงต้องติดตามอัตราเงินเฟ้อเพื่อคาดการณ์ราคาทองในอนาคต
  4. ราคาน้ำมัน เป็นปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อ เพราะราคาน้ำมันมีผลต่อต้นทุนการผลิต และถูกนำมาคำนวณเงินเฟ้อ หากตัดปัจจัยด้านอุปสงค์อุปทานของน้ำมันและทองคำ พบว่าส่วนมากเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็คาดการณ์ราคาทองคำได้ว่าจะมีการปรับตัวในทิศทางเดียวกัน
  5. วิกฤติการณ์ต่าง ๆ มีผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์สู้วิกฤติ สังเกตได้จากเมื่อเกิดเหตุความไม่สงบในบริบทของสังคมโลก ราคาทองคำก็จะพุ่งสูง สวนทางกับราคาของสินทรัพย์หลายประเภท นั่นเพราะประเทศต่าง ๆ (ยกเว้นสหรัฐฯ) มีทองคำไว้ในครอบครองเพื่อเป็นหลักประกันของประเทศ ยิ่งเกิดสงคราม ข้าวยากหมากแพง หรือเงินเฟ้อ ราคาทองคำยิ่งดีดทำจุดสูงสุดเสมอ นักลงทุนจึงคาดการณ์ราคาทองในอนาคตอันใกล้ได้เลยว่าราคาจะต้องสูงขึ้นแน่นอน

ท้ายที่สุด จะเห็นได้ว่า แม้ “ทองคำ” จะเป็นสินทรัพย์ทำกำไรในช่วงวิกฤติ แต่ราคาทองคำก็มีโอกาสปรับลงได้จากหลายปัจจัยเช่นกัน

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ