ข้อมูลจากรายงาน Gold Demand Trends ฉบับล่าสุดของสภาทองคำโลก (World Gold Council) พบว่า ความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) ลดลง 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 921 ตัน ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แม้ว่าดีมานด์โดยรวม (รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) จะเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสะท้อนถึงตลาดทองคำที่แข็งแกร่งทั่วโลก
สำหรับสถานการณ์ทองคำในประเทศไทยช่วงไตรมาส 2/2566 พบว่า ดีมานด์ทองคำของผู้บริโภคลดลง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 7.6 ตัน จาก 8.5 ตัน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการเครื่องประดับที่ลดลง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ 1.7 ตัน จาก 1.9 ตัน ส่วนดีมานด์ทองคำแท่งและเหรียญทองคำ โดยรวมลดลง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ 5.9 ตัน จาก 6.6 ตัน
Shaokai Fan หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ราคาทองคำที่สูง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผันผวน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทย เป็นสาเหตุให้ดีมานด์ทองคำผู้บริโภคลดลง 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี รวมถึงความต้องการซื้อเครื่องประดับทองคำที่ลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ตัน จากการที่ผู้บริโภคเลือกขายคืนเครื่องประดับทองคำมากกว่าซื้อใหม่
เมื่อพิจารณาสถานการณ์ทั่วโลก ความต้องการทองคำของธนาคารกลางใน Q2 ลดลงมาอยู่ที่ 103 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงหนุนหลักจากยอดขายสุทธิในตุรกีตามดีมานด์ทองคำที่สูง และธนาคารกลางที่ซื้อทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในครึ่งปีแรกที่ 387 ตัน รวมถึงอุปสงค์รายไตรมาสเป็นไปตามแนวโน้มเชิงบวกในระยะยาว เป็นข้อบ่งชี้ว่าการซื้อในหน่วยงานภาครัฐ ธนาคารกลาง และองค์กรต่างประเทศ (Official sector buying) จะแข็งแกร่งไปตลอดทั้งปี
ในด้านของการลงทุนทองคำช่วง Q2 พบว่า ดีมานด์ทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 277 ตัน และจบรวมที่ 582 ตัน ในครึ่งปีแรก จากการเติบโตของตลาดสำคัญ อันรวมไปถึงสหรัฐอเมริกาและตุรกี อีกทั้งการไหลออกของเงินทุนในกองทุน ETF ทองคำ ซึ่งอยู่ที่ 21 ตันในไตรมาสที่ 2 น้อยกว่าในไตรมาสเดียวกันของปี 2565 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอยู่ที่ 47 ตัน ทำให้การไหลออกสุทธิอยู่ที่ 50 ตันในช่วงครึ่งแรกของปี
สำหรับผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนากลางต่อราคาทองนั้น Shaokai Fan มองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้คนซื้อทอง ซึ่งจะต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงในภาคธนาคาร ปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งต่อการขึ้นลงของราคาทองเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำได้รับการสนับสนุนที่ดี แม้จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางต่างๆ ทำให้ภาพรวมดีมานด์ทองคำรวมทั่วโลกสูงขึ้น 7% มาอยู่ที่ 1,255 ตัน ใน Q2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าการผลิตจากเหมืองแร่จะทุบสถิติสูงสุดสำหรับครึ่งปีแรกที่ 1,781 ตัน