หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้ง ส่วนประเทศไทยสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนและเกิดความเสียหายในหลายอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างออกมายืนยันถึงความพร้อมและความแข็งแกร่งของระบบในทุกด้าน ทั้งโครงสร้างอาคาร ระบบการผลิต การเงิน และตลาดทุนของประเทศ
ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า สภาวิศวกรได้มีการตรวจสอบอาคารในกรุงเทพฯ แล้วกว่า 11,000 ราย พบอาคารสีแดงที่อยู่ในภาวะอันตรายเพียง 2 หลัง ขณะที่อาคารโรงพยาบาลบางแห่งอยู่ในกลุ่มสีเหลือง ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าตรวจสอบเพิ่มเติม
ทั้งนี้ อาคารในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่สร้างตามกฎหมายปี 2540 ซึ่งเน้นการออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและทนแรงสั่นไหวได้ดี “การสั่นไหวเป็นเรื่องปกติ แต่การที่อาคารไม่หักแสดงถึงความเหนียว ซึ่งยืนยันความมั่นใจในโครงสร้างอาคารในกรุงเทพฯ
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวมีผลกระทบต่อภาคการผลิตเพียงเล็กน้อย โรงงานส่วนใหญ่เครื่องจักรมีระบบความปลอดภัยอัตโนมัติ โดยเมื่อมีแรงสั่นไหวถึงระดับหนึ่ง ระบบจะสั่งตัดเครื่องจักร หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป วิศวกรประจำโรงงานจะเข้าไปตรวจสอบระบบต่างๆ เช่น เครื่องจักร ไฟฟ้า และความปลอดภัย ก่อนกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ
“หลายโรงงานที่มีกะกลางคืนสามารถกลับมาทำงานได้ทันที และหลายโรงงานที่หยุดช่วงวันศุกร์ก็สามารถกลับมาดำเนินการผลิตในวันเสาร์ได้ตามปกติ โรงงานขนาดเล็กก็ไม่มีปัญหา โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและสอบถามข้อมูลแล้ว” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ยังย้ำว่า ระบบการส่งแก๊สในโรงงานขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ และการป้อนวัตถุดิบก็เป็นไปอย่างราบรื่น โดยภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในอนาคตควรคำนึงถึงความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในการออกแบบและวางแผนโครงการด้วย
ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระบบชำระเงินในประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยตรง แต่มีเพียงความไม่สะดวกทางกายภาพในการเดินทางไปทำธุรกรรมในบางพื้นที่ โดย ธปท. ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการให้แก่ประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว
“ระบบของธนาคารพาณิชย์ยังทำงานได้ตามปกติ ทั้งระบบออนไลน์และโมบายแบงก์กิ้งไม่มีปัญหา ประชาชนยังสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง” ดร. รุ่งกล่าว
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม ดร. รุ่ง ระบุว่ายังต้องติดตาม แต่ผลกระทบต่อภาคครัวเรือนอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น เช่น ความเสียหายของบ้านเรือน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้รับคำสั่งให้ดูแลลูกหนี้อย่างเหมาะสม เช่น ลดขั้นต่ำบัตรเครดิต เพิ่มวงเงิน และปรับโครงสร้างหนี้หากจำเป็น
ทั้งนี้ ด้านต่างประเทศมีการสอบถามถึงสถานการณ์และแสดงความห่วงใย แต่ยังไม่พบความกังวลในระดับสูง และเข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศไทยเป็นอย่างดี
ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้แจ้งให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งเตรียมพร้อมรองรับการเคลมกรณีเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะในกรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเกิดการถล่ม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและสูญหาย
“หากมีการเบิกค่าชดเชยเข้ามา ต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้รวดเร็วที่สุด และเรายังเน้นย้ำให้บริษัทประกันภัยสามารถให้คำตอบประชาชนได้ชัดเจนว่ากรมธรรม์คุ้มครองหรือไม่” นายชูฉัตรกล่าว
กรณีอาคารที่ถล่ม มีทุนประกันรวมกว่า 2.1 พันล้านบาท โดยมีบริษัทประกันภัย 4 แห่งรับประกันไว้ และทั้งหมดมีประกันต่อในต่างประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าการจ่ายค่าชดเชยจะเป็นไปตามงวดงาน และจะไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทประกันเหล่านี้
ปัจจุบัน บริษัทประกันภัยทั้งระบบมีเงินกองทุนมากกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 3 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความพร้อมในการรองรับเศรษฐกิจไทย
ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ได้ติดต่อผู้ประกอบธุรกิจตลาดทุนทันที เพื่อดำเนินการตามแผน BCP (Business Continuity Plan) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรและการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่นักลงทุน
“เราจึงตัดสินใจปิดการซื้อขายชั่วคราวในวันศุกร์ แม้ระบบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่เราคำนึงถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์และข้อมูลข่าวสาร” ศ. ดร. พรอนงค์กล่าว
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ผ่อนปรนเรื่องการรายงานในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และสื่อสารไปยังบริษัทจดทะเบียนให้เข้าใจแนวทางปฏิบัติ ขณะที่ระบบการซื้อขายในตลาดทุนยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา มีเพียงปัญหาเรื่องบุคลากรที่ต้องอพยพชั่วคราว แต่ในวันนี้ทุกภาคส่วนของตลาดทุนกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ รวมถึงคอลเซ็นเตอร์ที่พร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนตลอดเวลา
ในส่วนของนักลงทุนสถาบัน หลายแห่งมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นผลกระทบระยะสั้น และข้อมูลพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทได้ออกมาชี้แจงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า ในมุมมองของนักลงทุนสถาบันว่า การ “แพนิก” ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากมีการกระจายการลงทุนที่ดี และจากประสบการณ์ในเหตุการณ์สึนามิและน้ำท่วมในอดีต ตลาดทุนไทยสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว โดยย้ำว่าเหตุการณ์นี้เป็นเพียง “ช็อกระยะสั้น” และอาจเป็นโอกาสในการลงทุนมากกว่าความเสี่ยง
“ถ้าเรามั่นใจในพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน ต้องแน่วแน่ อย่าฟังข่าวที่ยังไม่ชัดเจน เพราะการแพนิกจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่าในระยะยาว”
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้