“ขับเคลื่อนการเติบโตด้วยหัวใจและใฝ่รู้” เป็นชื่อรายงานประจำปี 2566 ของธนาคาร JPMorgan Chase โดยมีเนื้อหาทิ้งท้ายในสารประธานเจ้าหน้าที่บริหารว่า “ด้วยหลักการและวัตถุประสงค์แล้ว เราช่วยเหลือผู้คนและองค์กรด้านการเงิน ให้บรรลุความปรารถนา ซึ่งยกระดับทั้งปัจเจกชน เจ้าของบ้าน ธุรกิจขนาดเล็ก บรรษัทธุรกิจ โรงเรียน โรงพยาบาล เมืองและประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก” แถลงการณ์นี้สะท้อนถึงจุดยืนและบทบาทของภาคการเงินระดับโลกในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาอย่างกว้างขวางแทบทุกระดับ แล้วภาคการเงินไทยควรจะทำอย่างไรจึงจะสามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่นี้ได้? บทความนี้มุ่งทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจการเงินไทยทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าวด้วยกลยุทธ์การเงินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
หากมองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งสรุปได้จากเครื่องชี้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 อาทิตัวเลข GDP แล้ว SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจรายไตรมาสขยายตัวดีขึ้นจากแรงส่งของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐตามการเร่งเบิกจ่าย และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น แม้การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว ขณะที่การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จาก 2.5% เป็น 2.7% สอดรับกับคำอธิบายของสภาพัฒน์ฯ ในมุมของปัจจัยการเติบโตในมิติสาขาเศรษฐกิจว่ามาจากการเร่งขึ้นของกลุ่มบริการ โดยเฉพาะการก่อสร้าง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า การขายส่งและการขายปลีกฯ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชะลอลง และภาคเกษตรลดลง
ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคยังไม่ครอบคลุมการกระจายตัวอย่างทั่วถึงของภาวะเศรษฐกิจ จึงต้องอาศัยเครื่องชี้ภาวะทางสังคมประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งสภาพัฒน์ฯ เองได้รายงานความเคลื่อนไหวสำคัญทางสังคมในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ไว้ว่าในด้านการจ้างงานค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยพบการหดตัวต่อเนื่องของการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลง 3.4% จากสถานการณ์อุทกภัย ขณะที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตรขยายตัวที่ 1.4% จากการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าที่ 14.0% ที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.1% สำหรับสาขาที่การจ้างงานหดตัวลง คือ การขายส่ง/ขายปลีก ลดลง 0.8% และการผลิตลดลง 1.4% ขณะที่หนี้สินครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเหลือ 1.3% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงมาอยู่ที่ 89.6% ส่วนหนึ่งมาจากระดับภาระหนี้ที่สูงประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น
ตัวเลขเศรษฐกิจ แรงงาน และหนี้ครัวเรือน แสดงให้เห็นการเติบโตในบางภาคส่วน อาทิ การท่องเที่ยว แต่สาขาการผลิตและการเกษตรซึ่งมีธุรกิจและแรงงานอยู่มากกลับยังไม่เข้มแข็ง แสดงถึงความเปราะบางด้านรายได้ของเศรษฐกิจไทยซึ่งจะเป็นโจทย์หนักเพิ่มเติมไปจากปัญหาภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงอีกด้วย
ภาพเศรษฐกิจข้างต้นดำเนินคู่ขนานไปกับเครื่องชี้จากภาคการเงิน โดยรายงานของแบงก์ชาติได้สรุปภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ไว้ว่ามีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวที่ 2.0% เทียบกับปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยการให้สินเชื่อใหม่มีต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มชะลอลงในธุรกิจภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ และพาณิชย์ขนาดใหญ่ และสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อหดตัวในภาคธุรกิจที่เผชิญกับปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยในด้านยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL ต่อสินเชื่อรวม ในไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 2.97%
ตัวเลขภาพรวมข้างต้นแสดงสถานะระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีเสถียรภาพ แต่บทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นไปได้อย่างจำกัด เห็นได้จากการที่สินเชื่อใหม่หดตัว และแม้จะขยายตัวในบางภาคส่วนก็มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งผลสุทธิของตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP และหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ลดลงมาอยู่ที่ 89.6% และ 86.5% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าอยู่ในทิศทางปรับลดลงสอดคล้องกับสัญญาณของตัวเลขสินเชื่อปล่อยใหม่ที่หดตัว และตัวเลข GDP ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
IMF ได้รายงานประมาณการตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยในปี 2567 ไว้ที่ 2.8% ซึ่งแม้จะสูงกว่าตัวเลขการเติบโตในปี 2562 ที่ 2.1% ก่อนโควิด แต่นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2559-2561 ที่ 3.9% และค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2549-2558 ที่ 3.3% อย่างไรก็ดี IMF มองตัวเลขประมาณการ GDP ไทยในปี 2572 ไว้ที่ 2.7% ใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการในปีนี้ ซึ่งหากเรากวาดตาดูคร่าว ๆ แล้ว เสมือนว่าตัวเลข GDP ไทยโดยเฉลี่ยในรอบเกือบ 20 ปีนี้จะอยู่ที่ราว ๆ 3% และจะยังอยู่ระดับนี้ไปในระยะยาว ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปและประเทศในแถบลาตินอเมริกา แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรงของไทย จึงนับว่าสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวไม่สดใสนัก
พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ฉายภาพไปข้างต้นเป็นการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านด้านอุปสงค์ หรือ ค่าใช้จ่าย ควบคู่ไปกับด้านอุปทาน หรือ สาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี รากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิตที่เรียกรวม ๆ ได้ว่า “คน ทุน เทค” ซึ่งทิศทางของการใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้จะสะท้อนแนวโน้มของการเติบโตในระยะยาวของประเทศที่ก้าวข้ามความผันผวนทั้งด้านบวกและลบในห้วงเวลาสั้น ๆ แล้วธุรกิจไทยจะเข้าถึงปัจจัยการผลิตทั้งแรงงาน เงินทุน และเทคโนโลยี โดยบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยให้เต็มศักยภาพได้อย่างไร?
ดังที่ภาคการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงประคับประคองรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินควบคู่ไปกับการปรับฐานให้หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจทยอยลดลงหลังเร่งสูงขึ้นรองรับการดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด กลยุทธ์ของภาคการเงินในระยะต่อไปจึงควรมุ่งยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย
1. พัฒนาระบบนิเวศทางด้านข้อมูล ต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินและระบบการชำระเงินที่ภาคธนาคารได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยับขยายโครงสร้างพื้นฐานให้สร้างโอกาสด้านข้อมูลจะไม่เพียงทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินจะรู้จักผู้ใช้บริการทางการเงิน จนนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ลูกค้า แต่จะช่วยให้ระบบการเงินจัดสรรเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ปริมาณและราคาของเงินทุนเหมาะสมกับศักยภาพและความเสี่ยงของหน่วยเศรษฐกิจ ซึ่งระบบนิเวศทางด้านข้อมูลที่สมบูรณ์ จะต้องอาศัยข้อมูลที่คมชัดผ่านตัวกลางเครดิต หรือ Credit mediator หลากหลายโดยใช้ข้อมูลทางเลือกนอกภาคการเงิน รวมถึงแลกเปลี่ยนได้ระหว่างองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
2. เอื้ออำนวยให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ อาศัยความเข้มแข็งของการทำงานร่วมกันในภาคการเงินระหว่างผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการทางการเงินที่สามารถดำเนินการภายใต้กฎระเบียบของการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด โดยขยายการมีส่วนร่วมของการทำงานร่วมกันให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการทางการเงินทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งอาจมีข้อติดขัดในรูปแบบของต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมซึ่งเกิดจากการที่ผู้ให้บริการทางการเงินต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ แนวทางดังกล่าวไม่เพียงแต่จะลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริง แต่จะช่วยสร้างแรงดึงดูดต่อเม็ดเงินลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติ
3. เสริมแกร่งด้วยเครือข่ายผสานการแข่งขันและความร่วมมือ หรือ Coopetition ผ่านการสร้างโอกาสให้คู่แข่งทางธุรกิจมีแพลตฟอร์มในการร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน แล้วจึงแข่งขันกันนำเทคโนโลยีไปใช้ในสินค้าขั้นสุดท้ายที่จะจำหน่ายออกสู่ตลาด ซึ่งภาคการเงินเองสามารถทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างคู่ค้าคู่แข่ง ตลอดจนผู้ชำนาญการทั้งในภาควิชาการ Think Tank และภาครัฐ ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุนและกลไกการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อประเมินผลในการดำเนินการอย่างเป็นกลางระหว่างแต่ละภาคส่วน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอาจสามารถต่อยอดขยายไปถึงระดับภูมิภาคเช่นการร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน แต่ยังแข่งขันกันดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศใน ASEAN
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
1.Jamie Dimon. (2024, April 8). “Powering Growth with Curiosity and Heart: Annual Report 2023”. JPMorgan Chase & Co.
2.SCB EIC. (2024, November). “SCB EIC Monthly: SCB EIC ประเมิน Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2025 กดดันการค้า การผลิต และการลงทุน”.
3.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2024, November 18). “เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2567”
4.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2024, November). “ภาวะสังคมไทย ไตรมาสสาม ปี 2567”
5.ธนาคารแห่งประเทศไทย (2024, November 26). “สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2567”
6.International Monetary Fund (2024, October). “World Economic Outlook: Policy Pivot, Rising Threats”
7.สมประวิณ มันประเสริฐ (2023, September 15). “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น”
8.สมประวิณ มันประเสริฐ (2024, October 6). “ความสามารถในการแข่งขัน นิยามใหม่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป”
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney