หนี้ครัวเรือน เหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย

Experts pool

Columnist

Tag

หนี้ครัวเรือน เหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย

Date Time: 1 พ.ย. 2567 18:28 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่จะมาเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถือว่าสูงมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และหวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่องในปี 2568 เพราะปัญหานี้ ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาล ขณะเดียวกันเป็นโอกาสของรัฐบาลด้วย เพราะหากทำสำเร็จ เชื่อว่าจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

Latest


เวทีงานสัมมนาเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งการมอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ “CEO Econmass Awards 2024” มอบรางวัลโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และงานเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย โอกาส และความท้าทายในปี 2568” ผ่านมุมมองของ 3 มหากูรูเศรษฐกิจ ได้แก่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย, เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ปิดท้ายการปาฐกถาพิเศษของ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future” จาก พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกูรูเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ในฐานะนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ “ขอขอบพระคุณ” ทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมทำให้งานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วย

เมื่องานสัมมนาเสร็จสิ้นแล้ว ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้เข้างานสัมมนาในครั้งนี้ และที่นั่งฟัง 3 กูรูเศรษฐกิจ และปาฐกถาพิเศษจากภาครัฐแล้ว พบว่า ความท้าทายเศรษฐกิจของประเทศไทย ต้องเผชิญหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน, สถานการณ์เศรษฐกิจโลก, การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายเศรษฐกิจประเทศไทยเกือบทั้งสิ้น แต่หากใครจะท้าว่าเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ต้องลุ้นและเสี่ยงเอาเอง!

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภายในที่สะสมมาอย่างยาวนาน คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่จะมาเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถือว่าสูงมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และหวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่องในปี 2568 เพราะปัญหานี้ ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาล ขณะเดียวกันเป็นโอกาสของรัฐบาลด้วย เพราะหากทำสำเร็จ เชื่อว่าจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

แต่การจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะถ้าเป็นเรื่องง่ายแล้ว คงไม่มีใครปล่อยให้สะสมหมักหมมมานานหลายสิบปีเป็นแน่!!!

การแก้หนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ธุรกิจ หากไม่เริ่มจากการปรับโครงสร้างภายในของตัวเอง การแก้หนี้จะไม่จบสิ้น เช่น หนี้ครัวเรือน ต้องจัดการให้ได้ว่า ครัวเรือนมีรายได้เท่าใด แล้วจะนำแบ่งชำระหนี้ที่มีอยู่อย่างไร หากครัวเรือนไม่มีรายได้ ก็ต้องเร่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ครัวเรือนมีรายได้ เพราะถ้าไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ก็ไม่มีเงินไปชำระหนี้ได้ ดังนั้นต้องไม่ก่อหนี้เกินตัว

เช่นเดียวกับธุรกิจ ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจก่อน เมื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ จะรู้ว่าหน่วยธุรกิจใด สร้างกำไร หน่วยธุรกิจใดขาดทุน เมื่อพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ตัดบางส่วนออก ก็ต้องทำ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เพื่อให้มีกำไร เมื่อมีกำไร ก็มีเงินไปชำระหนี้ได้ และต้องบริหารจัดการธุรกิจให้ดีต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนขององค์กร

ทั้งนี้การที่สถาบันการเงินจะปล่อยเงินกู้ หรือปล่อยสินเชื่อให้บุคคลธรรมดา มักจะถามว่า แหล่งที่มาของรายได้ ที่จะนำมาชำระหนี้มาจากที่ใด ส่วนภาคธุรกิจ ก็ต้องดูแผนธุรกิจว่ามีความสามารถที่จะชำระหนี้เงินกู้ได้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่ง คือ การสร้างงานให้คนไทย ให้มีรายได้ และนำคนไทยเข้าสู่ระบบภาษีให้มากที่สุด

และเมื่อนำคนไทย เข้าสู่ระบบภาษีแล้ว ภาครัฐ สามารถจะออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้จากฐานข้อมูลประชาชนจากระบบภาษี สามารถช่วยเหลือประชาชนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ตรงจุด รวมถึงสวัสดิการรัฐต่าง ๆ ซึ่งทุกวันนี้ มีความซ้ำซ้อนกันหลายจุด ดังนั้นรัฐควรจะเร่งแก้ปัญหาสวัสดิการรัฐ และการทำให้คนเข้าสู่ระบบภาษี ถึงแม้จะใช้เวลาดำเนินการ ก็ต้องทำ เพื่อปรับระบบโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

อย่าทำให้คนไทย รู้สึกไม่อยากเสียภาษี เพราะไม่ได้รับสิทธิใด ๆ อย่าปล่อยให้คนไทย นั่งรอรับสวัสดิการรัฐ โดยไม่ทำงาน ด้วยการใช้นโยบายประชานิยม เพราะจะทำให้สังคมไทย เกิดความแตกแยก และเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไปเรื่อย ๆ

เฉกเช่นทุกวันนี้ คนจน...จนกระจาย ไม่มีเงินใช้จ่าย ส่วนคนรวย...รวยกระจุก ไม่ใช้เงินในประเทศ เน้นเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่คนชนชั้นกลาง และมนุษย์เงินเดือน ไม่กล้าใช้จ่ายมาก เพราะมีความกังวล ไม่มั่นคงในอาชีพ ทำให้ไม่มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ หรือมีก็น้อยมาก

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปีหน้านั้น ยังคงเน้นการลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้อง รวมถึงการพัฒนาทักษะของบุคลากรให้รองรับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการทำธุรกิจรวมถึงการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตไปอย่างสิ้นเชิง

ส่วนนโยบายการเปิดให้เช่าที่ดินในการทำธุรกิจเป็นเวลา 99 ปีนั้น มีทั้งความเห็นด้วยและเห็นต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจและเขียนกฎหมายให้ชัดเจน เพราะทุกวันนี้ข้อความในกฎหมายไม่ชัดเจน ทำให้เบี่ยงเบนหรือมีการเลี่ยงบาลีหรือต้องตีความ นำไปสู่การขึ้นโรงขึ้นศาล หากรัฐบาลจะกำหนด 99 ปี ต้องระบุให้ชัดเจนทุกถ้อยคำ ไม่ต้องตีความใด เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งคนเช่าและคนให้เช่า

ส่วนปี 2568 นับเป็นปีแห่งความท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่ต้องฝ่ามรสุมอีกหลายคลื่น ซึ่ง 3 กูรูเศรษฐกิจและ รมว.คลัง ยังคงมองว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะเติบโตมากกว่า 3% โดยภาคเอกชนขอให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนเศรษฐกิจปีนี้โต 2.7-2.8% โดยกระทรวงการคลังขอคงการคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่เดิมคือ 2.7%

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ดวงพร อุดมทิพย์

ดวงพร อุดมทิพย์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ