สู่ยุคมาตรฐาน ESG หนึ่งเดียว? ว่าด้วย IFRS S1 และ S2

Experts pool

Columnist

Tag

สู่ยุคมาตรฐาน ESG หนึ่งเดียว? ว่าด้วย IFRS S1 และ S2

Date Time: 12 ต.ค. 2567 08:00 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • IFRS ทั้งสองมาตรฐานถูกคาดหวังว่า อาจกลายเป็น “มาตรฐาน ESG สากลหนึ่งเดียว” ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากผู้ออกมาตรฐานคือ IFRS Foundation สถาบันเดียวกับที่อยู่เบื้องหลัง IFRS (International Financial Reporting Standards) มาตรฐานบัญชีที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก กว่า 144 ประเทศรวมถึงไทยด้วย และในเมื่อ IFRS เป็นมาตรฐานบัญชีที่แพร่หลายที่สุดในโลก IFRS S1 และ S2 จึงถูกจับตาว่าอาจเป็นมาตรฐาน ESG ที่ได้รับความนิยมสูงในระดับสากลตามไปด้วย

Latest


ตอนที่แล้วผู้เขียนเขียนถึงหลักการ double materiality หรือ “สาระสำคัญสองทาง” ว่าเป็นแก่นสารของมาตรฐาน ESG ระดับโลกบางฉบับ รวมถึงเป็น “หัวใจ” ของกฎหมาย ESG หลายฉบับของสหภาพยุโรป อาทิ European Sustainability Reporting Standards (ESRS)

ภายใต้หลักการ double materiality บริษัทที่รายงานจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า บริษัทตัวเอง “สร้างผลกระทบ” ต่อประเด็น ESG สำคัญๆ แต่ละประเด็นอย่างไร และประเด็น ESG แต่ละประเด็นนั้น “สร้างผลกระทบ” ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ในประเด็นภาวะโลกรวน (climate change) บริษัทต้องรายงานว่าตัวเองปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร เพื่อแสดงว่าตัวเองมีส่วนสร้างผลกระทบต่อโลกรวนอย่างไร และอธิบายว่าบริษัทจำแนกความเสี่ยงจากภาวะโลกรวน (climate risks) ที่มีต่อตัวบริษัทอย่างไร และบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร เพื่อแสดงว่าภาวะโลกรวนสุ่มเสี่ยงจะสร้างผลกระทบอะไรบ้างต่อการดำเนินธุรกิจ

มาตรฐาน ESG ส่วนใหญ่ในโลกนี้เป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ แต่มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างมากก็มีแนวโน้มที่จะถูกรัฐบัญญัติเป็นมาตรฐานภาคบังคับ โดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ในบรรดามาตรฐานทั้งหลายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG มาตรฐานที่ถูกจับตาว่า อาจกลายเป็นมาตรฐาน ESG ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และกำลังถูกกำหนดเป็นมาตรฐานภาคบังคับในหลายประเทศ คือ มาตรฐาน IFRS S1 (สำหรับประเด็น ESG นอกเหนือจากภาวะโลกรวน) และ IFRS S2 (สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกรวน)

IFRS ทั้งสองมาตรฐานถูกคาดหวังว่า อาจกลายเป็น “มาตรฐาน ESG สากลหนึ่งเดียว” ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากผู้ออกมาตรฐานคือ IFRS Foundation สถาบันเดียวกับที่อยู่เบื้องหลัง IFRS (International Financial Reporting Standards) มาตรฐานบัญชีที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก กว่า 144 ประเทศรวมถึงไทยด้วย

ในเมื่อ IFRS เป็นมาตรฐานบัญชีที่แพร่หลายที่สุดในโลก IFRS S1 และ S2 จึงถูกจับตาว่าอาจเป็นมาตรฐาน ESG ที่ได้รับความนิยมสูงในระดับสากลตามไปด้วย

มาตรฐาน IFRS S1 และ S2 เพิ่งประกาศในปี 2023 ผ่านมาไม่ถึงปี มีประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศที่ประกาศแล้วว่า จะให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศตัวเองจัดทำรายงานตามมาตรฐานดังกล่าว หรือนำมาตรฐานเหล่านี้ไปปรับใช้กับกรอบการรายงาน ESG ของตัวเอง ประเทศที่ประกาศแล้วมีอาทิ อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา บราซิล โบลิเวีย จีน ไนจีเรีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์

ยกตัวอย่างสิงคโปร์ บริษัทกำกับตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX RegCo) ประกาศในเดือนกันยายน 2024 ว่า บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ทุกแห่งต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขต 1 และ 2 (Scope 1 และ 2) ตามมาตรฐาน IFRS S2 ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป (รายงานข้อมูลปีงบการเงิน 2025) และรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขต 3 (Scope 3) และข้อมูล ESG ประเด็นอื่นๆ ตามมาตรฐาน IFRS S2 และ IFRS S1 ตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป

วันนี้ผู้เขียนชวนมาดูหลักการและวิธีทำงานของ IFRS S1 กัน

เว็บไซต์ IFRS อธิบายว่า วัตถุประสงค์ของ IFRS S1 คือ การให้องค์กรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ความเสี่ยง และ โอกาส ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ที่เป็นประโยชน์ต่อ ผู้ใช้รายงานทางการเงินทั่วไป ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพยากรให้กับองค์กร (เช่น นักลงทุนตัดสินใจว่าจะซื้อหุ้นดีไหม)

ชัดเจนจากวัตถุประสงค์ว่า IFRS S1 เป็นมาตรฐานแบบ “สาระสำคัญทางเดียว” หรือ single materiality นั่นคือ บริษัทต้องเปิดเผยเฉพาะ “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” ของบริษัท จากประเด็น ESG สำคัญๆ แต่ละประเด็น ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยว่าบริษัทเองสร้างผลกระทบอะไรบ้างต่อประเด็นนั้นๆ ในแง่นี้ IFRS S1 จึงแตกต่างจากมาตรฐาน GRI และกฎหมาย ESRS ของยุโรป ตั้งแต่ระดับวัตถุประสงค์ โดย GRI และ ESRS สนใจ “ผลกระทบ” ที่บริษัทสร้างต่อประเด็นต่างๆ มากกว่าที่ประเด็นเหล่านั้นจะเป็น “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” สำหรับบริษัท

วัตถุประสงค์ IFRS S1 ยังบอกต่อไปว่า กลุ่มเป้าหมายของการรายงานตามมาตรฐานนี้ คือ “ผู้ใช้รายงานทางการเงินทั่วไป” พูดง่ายๆ ว่า ใครก็ตามที่อ่านงบการเงินของบริษัทอยู่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปคนกลุ่มนี้คือ นักลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และเจ้าหนี้ของกิจการ ข้อนี้แตกต่างจากกฎหมาย ESRS ของยุโรปซึ่งกำหนดให้บริษัทคำนึงถึง “ผู้มีส่วนได้เสีย” (stakeholders) กลุ่มอื่นๆ เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย

สรุปว่าบริษัทต้องรายงานอะไรบ้างตาม IFRS S1 ? คำตอบคือ ข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” ทั้งหมด “ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน” (sustainability-related risks and opportunities) ที่ “คาดหมายอย่างมีเหตุมีผลได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือต้นทุนของบริษัทในระยะสั้น กลาง หรือยาว”

พูดอีกอย่างก็คือ IFRS S1 สนใจเฉพาะประเด็น ESG ที่บริษัท “คาดหมายอย่างมีเหตุมีผล” (reasonably expect) ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท

IFRS S1 กำหนดวิธีการที่บริษัทจะจัดเตรียมและรายงานข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสจากประเด็น ESG ต่างๆ (“ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน”) โดยครอบคลุม 4 มิติด้วยกัน

  1. การกำกับดูแล การควบคุม และกระบวนการต่างๆ ที่บริษัทใช้ในการติดตาม จัดการ และดูแลประเด็นเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
  2. กลยุทธ์ของบริษัทในการจัดการประเด็นเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
  3. กระบวนการต่างๆ ที่บริษัทใช้ในการระบุ ประเมิน จัดลำดับความสำคัญ และติดตามประเด็นเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
  4. ผลประกอบการของบริษัทที่เกี่ยวกับประเด็นเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมถึงความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่บริษัทประกาศเอง หรือต้องบรรลุตามกฎหมายหรือกฎระเบียบของรัฐ

ข้อกำหนดพื้นฐานข้างต้นชี้ชัดว่า ถึงแม้จะใช้หลัก “สาระสำคัญทางเดียว” หรือ single materiality เพราะกำหนดให้บริษัทเข้าใจ “ผลกระทบ” ของประเด็น ESG ต่างๆ ต่อตัวเองเท่านั้น ไม่ระบุให้เข้าใจผลกระทบที่ตัวเองสร้างต่อประเด็น ESG ต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า บริษัทที่ใช้มาตรฐาน IFRS S1 ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจผลกระทบที่ตัวเองสร้างต่อประเด็น ESG ต่างๆ อยู่ดี เพราะผลกระทบเหล่านี้ส่งผลต่อลักษณะและระดับ “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” ของประเด็นนั้นๆ ต่อบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรายงานตาม IFRS S1

ยกตัวอย่างจากคำอธิบายของ IFRS S1 เอง เช่น ถ้าหากบริษัททำธุรกิจที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ บริษัทนั้นๆ ก็สามารถทั้งสร้างผลกระทบ และได้รับผลกระทบจาก คุณภาพ การเข้าถึง และราคาของแหล่งทรัพยากรนั้นๆ เช่น หากแหล่งน้ำปนเปื้อน เสื่อมสภาพ หรือถูกใช้เกินขนาด ทั้งจากกิจกรรมของบริษัทเองและจากปัจจัยอื่นๆ ปัญหานี้ก็อาจกระทบต่อโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์ และสุดท้ายส่งผลกระทบในแง่ลบต่อผลประกอบการทางการเงินและฐานะการเงินได้ (เช่น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการบำบัดน้ำ หรือกระบวนการผลิตสินค้าต้องหยุดชะงักเพราะมีน้ำไม่พอใช้ เป็นต้น) ในทางกันข้าม การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรนั้นๆ ไม่ว่าจะทำโดยบริษัทเองหรือปัจจัยอื่น ก็สามารถสร้างผลกระทบในแง่บวกได้ 

ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง ถ้าหากบริษัททำธุรกิจในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ต้องอาศัยทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความสำเร็จในอนาคตของบริษัทย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูดคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาทำงาน และดูแลไม่ให้เขาลาออกไปที่อื่น ความสามารถของบริษัทนี้ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติในการจ้างงานและดูแลพนักงานของบริษัท เช่น บริษัทลงทุนกับการฝึกอบรมพนักงานและดูแลความอยู่ดีมีสุขมากน้อยเพียงใด พนักงานรู้สึกพึงพอใจกับบริษัทเพียงใด เป็นต้น 

ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า “คุณค่า” (value) ที่บริษัทสร้าง อนุรักษ์ หรือบั่นทอนสำหรับคนอื่นนั้น มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความสามารถของบริษัทที่จะประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ 

IFRS S1 ระบุว่า บริษัทต้องแสดงให้เห็นว่ากระบวนการระบุ ประเมิน และจัดการประเด็นเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนนั้น ได้รับการบูรณาการเข้าไปในกระบวนการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของกิจการแล้ว ดังนั้น บริษัทจึงต้องเปิดเผยกระบวนการที่บริษัทใช้ระบุรายการประเด็นเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน แนวทางที่ใช้ประเมินความน่าจะเป็นและผลกระทบของความเสี่ยง เช่น ตัวแปรเชิงคุณภาพ เกณฑ์เชิงปริมาณ หรือเกณฑ์อื่นๆ)  แนวทางที่ใช้จัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เทียบกับความเสี่ยงประเภทอื่นๆ รวมถึงเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงที่บริษัทใช้ เป็นต้น 

เนื้อหาในส่วน “ตัวชี้วัดและเป้าหมาย” (metrics and targets) ของ IFRS S1 เปิดโอกาสให้ใช้ทั้งตัวชี้วัดตามมาตรฐานการบัญชีเพื่อความยั่งยืน SASB (ดำเนินการโดย IFRS Foundation เช่นกัน) ตัวชี้วัดตามมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และตัวชี้วัดที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง โดยหลักการสำคัญคือ บริษัทต้องเปิดเผยตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดการและติดตามความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินผลการดาเนินงาน รวมถึงกระบวนการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ESG ที่กำหนด

ในกรณีที่บริษัทพัฒนาตัวชี้วัดความเสี่ยงหรือโอกาสด้าน ESG ขึ้นเอง บริษัทต้องเปิดเผยตั้งแต่ วิธีที่ใช้ในการกำหนดนิยามตัวชี้วัด ระบุว่าตัวชี้วัดเป็นค่าสัมบูรณ์หรือสัมพันธ์กับค่าอื่น (เช่น รายได้หรือพื้นที่) และรายงานว่าใช้ข้อมูลใดบ้างในการสร้างตัวชี้วัด รวมถึงต้องอธิบายว่า การวัดผลของตัวชี้วัดดังกล่าวถูกสอบทานโดยหน่วยงานภายนอกหรือไม่ ถ้าถูกสอบทาน สอบทานโดยหน่วยงานภายนอกใด และอธิบายวิธีและข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณเป้าหมาย รวมถึงสมมติฐานและข้อจำกัดสำคัญๆ สำหรับวิธีดังกล่าวด้วย

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี อาชวานันทกุล
นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน มีความสุขกับการทำงานในประเด็น ธุรกิจที่ยั่งยืน พลังพลเมือง และเกม