หลัก “สาระสำคัญสองทาง” (double materiality) ในการจัดการ ESG

Experts pool

Columnist

Tag

หลัก “สาระสำคัญสองทาง” (double materiality) ในการจัดการ ESG

Date Time: 7 ก.ย. 2567 09:10 น.

Video

RAVIPA จิวเวลรี่ มู มินิมอล ปั้นแบรนด์ไทยบนเวทีโลก | On The Rise

Summary

  • บริษัทที่เข้าใจสาระสำคัญของมาตรฐาน ESG เหล่านี้จริง ๆ จะเข้าใจว่า การรายงานตามมาตรฐาน ESG ระดับโลก ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ควรทำ การฟังเสียงของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และในบรรดาหลักคิดและหลักการในการจัดการ ESG ผู้เขียนเห็นว่า หลักที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ และเปรียบเป็น “กระดุมเม็ดแรก” คือ “หลักสาระสำคัญสองทาง” หรือ double materiality

Latest


ตลอดหลายตอนที่ผ่านมาในคอลัมน์นี้ ผู้เขียนเล่าเรื่อง ESG (ชื่อเรียกรวม ๆ ของประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ) ผ่าน “มาตรฐาน” และ “รางวัล” ระดับโลกในด้านนี้ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย อาทิ S&P Global ESG (บริษัทเอกชนขนาดใหญ่คุ้นเคย) และ ISS-ESG (นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่คุ้นเคย)

แม้จะมีจุดร่วมและจุดต่างกันอยู่บ้าง มาตรฐานเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็น ‘มาตรฐานโดยสมัครใจ’ กล่าวคือ บริษัทและนักลงทุนสถาบันที่สมัครเข้าร่วมจะทำตามมาตรฐานเหล่านี้ก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่แน่นอนว่าบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สมัครใช้มาตรฐานเหล่านี้เนื่องจากเห็นความสำคัญของ ESG ต่อการดำเนินธุรกิจ หรือไม่ก็นักลงทุนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทก็เรียกร้องให้บริษัทใช้มาตรฐานเหล่านี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์องค์กรให้สามารถรับมือและจัดการกับประเด็น ESG ได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การสมัครเข้าร่วมมาตรฐานเหล่านี้มิได้หมายความว่าทุกบริษัทจะเข้าใจเรื่อง ESG เท่ากัน และการที่บริษัทได้คะแนน ESG สูง ๆ หรือได้รับรางวัล ESG ใด ๆ ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่า เป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม “ดีกว่า” บริษัทอื่นที่ได้คะแนน ESG น้อยกว่า หรือไม่เคยได้รางวัลด้าน ESG เลย

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรฐาน ESG ล้วนตั้งอยู่บนการรายงานข้อมูลของบริษัทเองเป็นส่วนใหญ่ ใช้ข้อมูลภายนอกที่เป็นอิสระจากบริษัทเป็นส่วนน้อย (ตัวอย่างแหล่งข้อมูลอื่นเช่น สื่อมวลชน (ในประเทศที่ธุรกิจใหญ่คุมสื่อไม่ได้) หรือฐานข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแล เป็นต้น) ด้วยเหตุนี้ บริษัทที่ขยันเขียนรายงาน ขยันเก็บข้อมูลด้าน ESG และมีทรัพยากรมากพอที่จะอุทิศให้กับงานเหล่านี้ ย่อมได้เปรียบบริษัทอื่นที่อาจใส่ใจผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายมากกว่า ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมดีกว่ามายาวนาน สร้างผลกระทบทางลบน้อยกว่าบริษัทเจ้าของรางวัล ESG มาก เพียงแต่ไม่เคยสนใจจะเก็บหรือเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ตามรายการที่มาตรฐาน ESG ต้องการ จึงได้คะแนนต่ำกว่าหรือพลาดรางวัล ESG ไป

พูดอีกอย่างคือ บริษัทสามารถมองมาตรฐาน ESG ประเภทสมัครใจเหล่านี้ว่าเป็น “เช็คลิสต์” ที่ต้องตอบคำถามให้ได้ทุกข้อเพื่อคว้าคะแนนสูง ๆ มาประกาศว่า ฉันเป็นบริษัทที่ยั่งยืน หรือจะมองไกลกว่านั้นว่าเป็น “ตะเกียง” ที่สามารถนำทางให้บริษัทปรับปรุงกลยุทธ์องค์กรในทางที่สามารถรับมือกับ ‘ประเด็นเสี่ยงด้าน ESG’ ที่สำคัญต่อบริษัทได้ดีขึ้น

บางบริษัทไม่เพียงแต่มองเห็น ‘ความเสี่ยง’ ด้าน ESG เท่านั้น แต่ยังมองเห็น ‘โอกาสทางธุรกิจ’ จากประเด็น ESG และสามารถปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อฉวยโอกาสนั้นได้ด้วย

บริษัทที่เข้าใจสาระสำคัญของมาตรฐาน ESG เหล่านี้จริง ๆ จะเข้าใจว่า การรายงานตามมาตรฐาน ESG ระดับโลก ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ควรทำ การฟังเสียงของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่นอาจมีข้อกังวล หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจบางประการ ที่ไม่สะท้อนอยู่ในรายการข้อมูลของมาตรฐาน ESG ก็เป็นได้

การได้คะแนนสูง ๆ หรือรางวัล ESG ระดับโลก จึงไม่สามารถการันตีว่าบริษัทกำลังดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของตัวเองได้ดีแล้ว ด้วยข้อจำกัดของมาตรฐาน ESG เอง

อย่างไรก็ตาม ทุกบริษัทก็สามารถได้ประโยชน์มากขึ้น เข้าใจความสำคัญของการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้น ถ้าหากลงมือศึกษาเนื้อหาเชิงลึกและหลักการของมาตรฐาน ESG อย่างจริงจัง ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่า บริษัทจะหาข้อมูลอะไรจากไหนมาตอบคำถามตาม “เช็คลิสต์” ของมาตรฐานนั้น ๆ

ในบรรดาหลักคิดและหลักการในการจัดการ ESG ผู้เขียนเห็นว่า หลักที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ และเปรียบเป็น “กระดุมเม็ดแรก” คือ “หลักสาระสำคัญสองทาง” หรือ double materiality

หลักการ double materiality เป็นแก่นสารของ Global Reporting Initiative (GRI) มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่เก่าแก่และได้รับการยอมรับมากที่สุดมาตรฐานหนึ่งในโลก รวมถึงเป็น “หัวใจ” ของกฎหมาย ESG (ซึ่งเราอาจเรียกว่า “มาตรฐาน ESG ภาคบังคับ”) หลายฉบับของสหภาพยุโรป อาทิ Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) สำหรับภาคธุรกิจและภาคการเงิน (กฎหมายฉบับนี้และอีกฉบับที่ออกตามมาคือ European Sustainability Reporting Standards (ESRS) กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องรายงานตามตัวชี้วัดมากกว่า 1,100 ตัว) และ Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR) สำหรับภาคการเงินโดยเฉพาะ

นิยามของหลัก double materiality คือ บริษัทต่าง ๆ ต้องพิจารณาลักษณะและขนาด “สาระสำคัญ” (materiality) ของประเด็น ESG แต่ละประเด็น จากสองทางดังนี้ –

ทางแรกเรียกว่า สาระสำคัญด้านการเงิน (financial materiality) ตอบคำถามว่า ประเด็น ESG นั้น ๆ ส่งผลต่อผลประกอบการ (ทางการเงิน) ของบริษัทหรือไม่ อย่างไร แค่ไหน

ทางที่สองเรียกว่า สาระสำคัญด้านผลกระทบ (impact materiality) ตอบคำถามว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทสร้างผลกระทบต่อประเด็น ESG นั้น ๆ หรือไม่ อย่างไร แค่ไหน

ก่อนที่จะรายงานตามหลักการ double materiality ได้ แต่ละบริษัทต้องไปศึกษาอย่างจริงจังว่า การดำเนินธุรกิจของตัวเองส่งผลกระทบต่อประเด็น ESG ต่าง ๆ อย่างไร ไม่ใช่ดูแค่ว่าประเด็น ESG แต่ละประเด็นส่งผลกระทบต่อตัวเองอย่างไร (หลัก single materiality) เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น ในประเด็นภาวะโลกรวน (climate change) จากมุม financial materiality บริษัทต้องดูว่า ประเด็นนี้เป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของตัวเองอย่างไรบ้าง (เช่น ที่ดินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางจุดอาจถูกน้ำท่วมจนขายไม่ออก จากความผันผวนรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ บริษัทอาหารอาจเจอต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เพราะผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำจากภัยแล้งมากขึ้น ฯลฯ) ส่วนจากมุม impact materiality บริษัทต้องวัดและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก scope 1, 2 และ 3 ตามมาตรฐานสากล เพื่อเปิดเผยว่าธุรกิจของบริษัทมีส่วนสร้างภาวะโลกรวนมากเพียงใด

แน่นอนว่าบริษัทแต่ละแห่ง ธุรกิจแต่ละประเภท ย่อมสร้างผลกระทบด้าน ESG และได้รับผลกระทบจากประเด็น ESG แตกต่างกัน ดังนั้นการดู double materiality จึงเป็นเรื่อง “ตัวใครตัวมัน” ที่แต่ละบริษัทต้องลงทุนศึกษาเอง แต่อาจดูแนวทางหรือรายงานของบริษัทอื่นในธุรกิจเดียวกันเป็นบทเรียน

แม้ว่ากฎหมายอย่าง CSRD ที่ใช้หลัก double materiality เป็นหัวใจ จะใช้เฉพาะสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่ค้าขายกับสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่บริษัทขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากตัวชี้วัดหลายรายการ อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก scope 3 หรือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน ต้องอาศัยข้อมูลจากคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัท เพราะเป็นข้อมูลจากการดำเนินธุรกิจที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทเอง (ไม่ใช่โรงงานหรือสำนักงานของตัวเอง)

การรายงาน ESG ตามกฎหมายเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญต่อการผลักดันความรับผิดชอบของภาคธุรกิจให้มีมาตรฐานเดียวกัน แต่ผู้เขียนเห็นว่า “ประโยชน์” หลายข้อของการทำตามหลัก double materiality นั้นตกอยู่กับตัวบริษัทเองไม่น้อยกว่าสังคม ยกตัวอย่างเช่นประโยชน์ 5 ข้อต่อไปนี้

  1. ความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นจากการรายงานตามหลัก double materiality ช่วยให้บริษัทตอบสนองต่อความกังวลและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างกระจ่างและถ่องแท้มากขึ้น และสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะบริษัทต้องรายงานว่าตัวเองสร้างผลกระทบด้าน ESG อย่างไร ไม่ใช่แค่รายงานว่าประเด็น ESG ต่าง ๆ ส่งผลต่อบริษัทอย่างไร
  2. การจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น เพราะหลัก double materiality บังคับให้บริษัทมอง ‘ความเสี่ยง’ จากประเด็น ESG ต่าง ๆ ต่อตัวบริษัท อย่างลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น ซึ่งก็ควรทำให้บริษัทมองเห็น ‘โอกาส’ ใหม่ ๆ ด้วย
  3. หลัก double materiality ช่วยให้บริษัทเขียนและพัฒนากลยุทธ์ความยั่งยืน (sustainability strategy) ขององค์กรในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มความเสี่ยง รวมถึงสอดรับกับกลยุทธ์องค์กรโดยรวมมากขึ้น (ผู้เขียนเห็นว่า สำหรับบริษัทที่เข้าใจความสำคัญของ ESG จริง ๆ กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน จะกลืนกลายเป็นสิ่งเดียวกันกับกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร เพราะองค์กรจะมองการจัดการ ESG เป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ของกลยุทธ์ทางธุรกิจ)
  4. การทำตามหลัก double materiality ช่วยให้บริษัทสื่อสารกับนักลงทุนได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ดึงดูดความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุนสถาบันที่ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ กับประเด็นความยั่งยืนในการตัดสินใจลงทุน
  5. หลัก double materiality ช่วยเปิดหูเปิดตาให้บริษัทมองเห็นโอกาสสร้างพันธมิตรใหม่ ๆ ตลาดใหม่ ๆ และนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น จากจุดเริ่มต้นที่อยากรับมือกับประเด็นเสี่ยง ESG และลดผลกระทบของตัวเองต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี อาชวานันทกุล
นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน มีความสุขกับการทำงานในประเด็น ธุรกิจที่ยั่งยืน พลังพลเมือง และเกม