Temu บุกไทย โอกาสครั้งใหญ่ โอกาสสร้างมาตรการร่วมปกป้องธุรกิจในประเทศ

Experts pool

Columnist

Tag

Temu บุกไทย โอกาสครั้งใหญ่ โอกาสสร้างมาตรการร่วมปกป้องธุรกิจในประเทศ

Date Time: 23 ส.ค. 2567 18:25 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • Temu ปักธงในประเทศไทยอย่างเงียบๆ เมื่อ 29 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นประเทศที่สามต่อจากฟิลิปปินส์ และมาเลเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเข้ามาของ Temu ในตลาดประเทศไทยไม่เป็นเพียงการสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างมาตรการปกป้องและสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น

Latest


Temu (เทมู) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน แต่ไปเปิดตัวธุรกิจอีคอมเมิร์ซและสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาปักธงในประเทศไทยอย่างเงียบๆ เมื่อ 29 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นประเทศที่สามต่อจากฟิลิปปินส์ และมาเลเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตลอดเวลาเกือบหนึ่งเดือนเต็มชื่อของ Temu ได้รับความสนใจอย่างมาก ได้นำมาซึ่งความสงสัยและมีประเด็นถกเถียงกันหลายประการ ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ที่มีสินค้าหลากหลายจำนวนมาก ตั้งแต่เรื่องคุณภาพสินค้า ราคาดูดีเกินจริง ไปจนถึงความปลอดภัยในการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มนี้

ทำไม Temu จึงกลายเป็นที่น่าจับตามอง และเป็นประเด็นร้อน รวมถึงข้อดีและข้อควรระวังที่ผู้บริโภคควรรู้ รวมไปถึงผลกระทบต่อตลาดช็อปปิ้งออนไลน์และอีโคซิสเต็ม

จดทะเบียนกับ ETDA เพื่อรุกตลาดอีคอมเมิร์ซ

Temu ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ภายใต้ชื่อ บริษัท Elementary Innovation PTE จากสิงคโปร์ เพื่อดำเนินการประกอบธุรกิจ บริการตลาดออนไลน์สำหรับตลาดประเทศไทย

จุดเด่นที่ทำให้ Temu ประสบความสำเร็จในการตีตลาดอีคอมเมิร์ซในหลายๆ ประเทศมาแล้วก็คือ การมีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ และการหาแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกที่มาจากโรงงานผลิตโดยตรง สินค้าหลากหลาย โปรโมชันอาจให้ส่วนลดสูงสุดถึง 90% การจัดส่งสินค้าจากจีนใช้เวลา 4-9 วัน ที่สำคัญหากลูกค้าไม่พึงพอใจสามารถคืนเงินภายใน 90 วัน

การเปิดตัวดังกล่าวได้สร้างกระแสตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการธุรกิจคนไทย และภาครัฐได้ร่วมกันหามาตรการเพื่อป้องกันรับแรงกระแทก โดยกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอให้ตั้งคณะทำงานระดับประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูกและไร้มาตรฐานจากต่างประเทศที่กำลังส่งผลกระทบต่อสินค้าภายในประเทศอย่างหนัก 

โดยเฉพาะด้านการผลิต การบริการ การลงทุน และผู้บริโภค ส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชนที่รวมกันถึง 30 กลุ่มธุรกิจ ได้ระดมข้อมูลปัญหาต่างๆ เพื่อเสนอให้รัฐอย่างครบถ้วน

ความน่ากลัวของ Temu อยู่ที่โมเดลธุรกิจที่เน้นขายสินค้าจากแหล่งผลิตโดยตรงในราคาที่ถูกมาก ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ รวมถึงคู่แข่งยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยตรง หรือโรงงานผลิตสินค้าให้ Temu บริษัทโลจิสติกส์ หรือแม้แต่ตัวลูกค้าเองแม้จะได้ดีลสินค้าที่ราคาถูกแต่ก็มีความความเสี่ยงกับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ

ตัวอย่างผลกระทบผู้ค้าในจีน

ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน บรรดาพ่อค้า แม่ค้าชาวจีนจำนวนมากได้แสดงความไม่พอใจผ่านการประท้วงทั้งออนไลน์ ในที่สาธารณะ และบุกไปประท้วงหน้าสำนักงานยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซแห่งนี้ ที่เมืองกวางโจว บรรดาพ่อค้า แม่ค้าจำนวนหลายร้อยคนได้แสดงความโกรธกริ้ว และประณาม Temu ถึงการเรียบเก็บค่าปรับจำนวนมหาศาลว่าเป็นการฉ้อโกงทางอีคอมเมิร์ซเลยทีเดียว 

พ่อค้า แม่ค้า โรงงานผู้ผลิตรายย่อยบางคนบอกว่าถูกปรับเป็นเงินถึง 5 ล้านหยวน บางคนโดนไป 1 ล้านหยวน เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาในจุดนี้

เมื่อล้วงลึกเข้าไปดูในโมเดลธุรกิจที่การตั้งราคาต่ำ เป็นจุดขายสำคัญที่สุดสำหรับการบุกยึดตลาดที่รวดเร็ว แต่กลยุทธ์นี้ เป็นการบริหารที่เกิดขึ้นจาก “เทมู” เพียงฝ่ายเดียว ตั้งแต่การตั้งราคา การบริหารโลจิสติกส์ การบริหารการตลาด และบริการหลังการขาย 

โดยบรรดาพ่อค้า แม่ค้า โรงงานผลิต มีหน้าที่จัดหาสินค้าพูดง่ายๆ เป็นเพียงซัพพลายเออร์เท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเต็มรูปแบบเหมือนอีคอมเมิร์ซทั่วไป 

นอกจากนี้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับลูกค้านั้นฝ่ายบริการลูกค้าของ Temu มักจะเอื้อประโยชน์ให้ลูกค้า นโยบายส่วนใหญ่คือการเงินให้ลูกค้าเพื่อแน่ใจได้ว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีสำหรับการช็อปปิ้งผ่านแพลตฟอร์มนี้ แต่บรรดาพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรวมทั้งค่าปรับด้วย

เมื่อเร็วๆ มีการอัปเดตในสินค้าบางประเภทหากมีปัญหาด้านคุณภาพ Temu สามารถกำหนดค่าปรับสูงสุดถึง 5 เท่า ของปริมาณสินค้า หากมีการส่งคืนสินค้าเดียวให้กันจำนวน 5 ครั้งใน 15 วัน จะมีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมอีก 1,000 หยวนต่อรายการ

หากมองเรื่องปัญหาคุณภาพสินค้า นับเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่บรรดาผู้ค้ามองว่า ค่าปรับ 5 เท่านั้นเป็นจำนวนที่สูงเกินไป เนื่องจากการขายสินค้าราคาต่ำ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของแพลตฟอร์ม ซึ่งปกติจะหมายถึงสินค้าคุณภาพต่ำ และสำหรับสินค้าที่ถูกส่งคืนบางรายการมาจากเหตุผลอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำบริการใหม่ที่อนุญาตให้คืนเงินได้ โดยไม่ต้องส่งคืนสินค้า ทำให้ผู้ขายบางรายต้องเผชิญกับค่าปรับและความไม่ยุติธรรม

พวกเขายังระบุด้วยว่า บางครั้งการถูกปรับจากการรีวิวสินค้าของลูกค้าไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเขา แต่มาจากความผิดพลาดของ Temu เอง เช่นลูกค้าสั่งซื้อกระเป๋าเดินทางเด็ก แต่ทางพนักงานลืมใส่ล้อและฝาปิด แม้ว่าจะมีการบรรจุหีบห่ออย่างดี และผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วก็ตาม หรือการสั่งซื้อที่ผิดขนาดแต่ถูกระบุว่าการส่งคืนสินค้าเป็นปัญหาจากคุณภาพสินค้า

บทลงโทษของการจัดสต๊อกสินค้า จากข้อตกลงบริการคลังสินค้าที่กำหนดผู้ขายต้องลงนาม บางรายได้เห็นบทลงโทษ หากสินค้าขายไม่ได้และถูกจัดเก็บในคลังสินค้าเกินเวลาที่กำหนดจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 500 หยวนต่อวัน หากเกิน 7 วัน ทางแพลตฟอร์มมีสิทธิทำลายหรือกำจัดได้

ขณะนี้ทางการจีนยังคงพยายามหาวิธีจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยการเจรจากับแพลตฟอร์มและผู้ประกอบการต่างๆ แต่ยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน สถานการณ์นี้ยังคงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือการบริหารจัดการใดๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการชาวจีนในอนาคต

ทำความรู้จัก PDD ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน

Pinduoduo (ปินดูโดว) หรือ PDD เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ก่อตั้งขึ้นในเซี่ยงไฮ้ในปี 2558 โดยเน้นการช็อปปิ้ง Social Shopping ซื้อแบบกลุ่มเพื่อรับส่วนลด ภายในสามปีหลังจากเปิดตัวมียอดผู้ใช้มากกว่า 200 ล้านคน และมียอดขายรวมกว่า 100,000 ล้านหยวน ซึ่งทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีปริมาณการสั่งซื้อรายวันสูงเป็นอันดับสองในประเทศจีน รองจากเถาเป่าของอาลีบาบาเท่านั้น

ในรายงานประจำปี 2560 ของอาลีบาบา ระบุว่ามีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มสำหรับการขายสินค้าปลอมและสินค้าคุณภาพต่ำไปยัง WeChat และ Pinduoduo ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อในตลาดว่าการเติบโตของ Pinduoduo เป็นสัญญาณของการบริโภคที่ลดลงในจีน บางคนถึงกับโต้แย้งว่าสินค้าลอกเลียนแบบที่เคยถูก Alibaba ต่อสู้มานานกำลังกลับมาบนแพลตฟอร์มใหม่เหล่านี้

ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบแพร่หลายในจีน ผู้บริโภคจำนวนมากยังคงซื้อสินค้าราคาถูก แม้บางครั้งจะรู้ว่าเป็นของปลอม เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ 

อย่างไรก็ตาม การแพร่หลายของสินค้าปลอมไม่ได้หยุดการปรับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และแพลตฟอร์มยังมีสิทธิ์ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพเอง ซึ่งทำให้ผู้ขายอยู่ในจุดที่เสียเปรียบ

สื่อจีนรายงานว่าผู้ขายบางรายรู้สึกว่าตนเองไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเข้าร่วมกับแพลตฟอร์ม เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด Pinduoduo ใช้นโยบายที่เข้มงวดในการกำหนดราคาและการปรับเพื่อบังคับให้ผู้ขายลดราคาลง หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกลดปริมาณการเข้าชมหรือการสั่งซื้อ และอาจถูกถอดสินค้าจากแพลตฟอร์ม

ในตลาดต่างประเทศ Pinduoduo ได้ใช้ชื่อแพลตฟอร์ม Temu ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและดึงดูดผู้ใช้จำนวนมาก จนขณะนี้เปิดไปแล้วกว่า 53 ประเทศ

บทเรียนนำมาสู่ประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากการเข้ามาของ Temu ได้ส่งผลบ้างแล้ว ทั้งจากผู้ค้าออนไลน์ โรงงานผลิตและบริษัทขนส่งสินค้า และได้มีการเรียกร้องให้รัฐช่วยแก้ปัญหา โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกกระทรวง ทบวง กรมและเอกชนทั้งระบบ ซึ่งทางภาครัฐเองก็ได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการให้กระทรวงพาณิชย์เป็นแม่งาน ร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและเอกชนจากสภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เรียกว่าระดมสรรพกำลังเพื่อรับคลื่นสินค้าที่ถาโถมเข้ามา

เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ Temu แต่สินค้าจากจีนราคาถูกเข้ามายึดตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง จนพ่อค้า แม้ค้าออนไลน์ ผู้ผลิตเอสเอ็มอีอยู่ไม่ได้ ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาปิดกิจการไปแล้วถึง 667 แห่ง

การเข้ามาของ Temu ในตลาดประเทศไทยไม่เพียงแต่สร้างโอกาสให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างมาตรการปกป้องและสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เพื่อให้ตลาดการค้าของไทยเติบโตไปในทางที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

ติดตามข่าวสารอัปเดต อ่านการตลาด และธุรกิจ กับ Thairath Money ที่จะทำให้ "การเงินดีชีวิตดี" ล่าสุด ได้ที่นี่ https://www.thairath.co.th/money/business_marketing


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ