การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 กำลังจะปิดฉากลงในวันที่ 11 ส.ค. 2567 ฝรั่งเศส จะส่งไม้ต่อให้ เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2028
ปารีส โอลิมปิก 2024 ได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อย โดยเฉพาะการจัดพิธีเปิดได้อย่างสวยงาม สร้างสรรค์ ตราตรึงใจ ภายใต้งบประมาณ 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และคอนเซปต์ลดโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการงดติดแอร์ในห้องพักนักกีฬา ไปจนถึงการใช้สถานที่แข่งขัน สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ หรือสร้างแบบชั่วคราว เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด ดูเหมือนว่าปารีสจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับงบประมาณที่วางเอาไว้ได้ ส่วนจะมีกำไรหรือไม่นั้นต้องรอติดตาม
แม้เจตจำนงในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริม ยกย่องผู้มีความเป็นเลิศทางกีฬา สร้างมิตรภาพในหมู่มวลมนุษยชาติ ไม่ใช่กิจกรรมหารายได้ แต่ค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ประเทศเจ้าภาพต้องแบกรับ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซาต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจถูกนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจากบทความ Can Paris beat the host city hoodoo and profit from the Olympics? เขียนโดย Sid Panayi และ Borja García แห่ง Loughborough University เผยว่า ไม่มีหลักฐานชี้วัดชัดเจนว่าการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส่งผลดีต่อเมืองเจ้าภาพ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตัวเลขงบลงทุนจำนวนมหาศาลในการสรรค์สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาเป็นการเฉพาะ ที่พัก การเดินทางของขบวนนักกีฬา
ยกตัวอย่าง การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในนามโตเกียวเกมส์เมื่อปี 2021 ซึ่งโลกกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 15,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 244% ขณะที่ ประเทศบราซิล เจ้าภาพริโอเกมส์ ปี 2016 มีค่าใช้จ่ายสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 352%
หลายครั้งการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมาพร้อมวิบากกรรม ตัวอย่างที่กลายเป็นบทเรียนของโลกคือ เอเธนส์เกมส์ ปี 2004 ซึ่งประเทศกรีซเป็นเจ้าภาพ ไม่กี่วันหลังจากพิธีปิด รัฐบาลกรีซประกาศว่าหนี้สาธารณะอยู่ในระดับย่ำแย่ ขาดดุลการค้ามหาศาล สิ่งก่อสร้างมากมายที่กรีซทุ่มทุนเพื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ทำให้ประเทศต้องเผชิญวิกฤติหนี้สาธารณะ และความยากลำบากทางเศรษฐกิจหลายปีตามมา
เช่นเดียวกับ เมืองมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา เจ้าภาพโอลิมปิกปี 1976 ที่ต้องใช้เวลามากกว่าทศวรรษในการใช้หนี้จำนวน 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มาจากการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่
เมื่อค่าใช้จ่ายที่อาจบานปลายมหาศาล กระทบต่อฐานะการเงิน เป็นภาระของประเทศเจ้าภาพ จำนวนประเทศที่เสนอตัวเข้าสู่กระบวนการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จึงลดลงต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
เริ่มจากการแข่งขันในปี 2004 มีเมืองที่ยื่นใบสมัครเป็นเจ้าภาพทั้งสิ้น 11 เมือง ปรากฏประเทศกรีซเป็นผู้ชนะในนามเอเธนส์เกมส์ ต่อมาในปี 2008 ปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นผู้ชนะท่ามกลางผู้เข้าแข่งขัน 10 เมือง ถัดมาในปี 2012 มีผู้เสนอตัว 9 เมือง อังกฤษ เป็นผู้ชนะ ได้เป็นเจ้าภาพในนาม ลอนดอนเกมส์
แต่หลัง ลอนดอนเกมส์ จำนวนผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกลดลงฮวบฮาบ ในปี 2016 ซึ่งบราซิลเป็นเจ้าภาพ มีผู้เข้าร่วมประมูล 4 เมือง ส่วนปี 2020 โตเกียว ผู้ชนะเป็น 1 ใน 3 ผู้เข้าแข่งขัน ขณะที่ปีล่าสุด 2024 มีผู้เสนอตัว 2 ประเทศ คือ ปารีส ฝรั่งเศส และลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
จำนวนผู้เข้าแข่งขันที่ลดลงนี้ส่งผลให้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มอบให้ ลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นผู้เสนอตัวรายเดียวที่เหลือในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2024 เป็นเจ้าภาพต่อในปี 2028 โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนปกติ
ความจริง...โอลิมปิก 2024 มีผู้เสนอตัวมากกว่า 2 แต่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ชิงถอนตัวเสียก่อน เกรงค่าใช้จ่ายสูงไป และกลัวกระแสคัดค้าน โดยที่ บูดาเปสต์ คนมากกว่า 250,000 คน ลงนามเรียกร้องให้เมืองยกเลิกการประมูลเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก และให้นำเงินไปใช้ในการสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนแทนจะดีกว่า
เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ IOC ได้เปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกเจ้าภาพ เพื่อหยุดความพยายามในการเสนอราคาที่สูงจนเกิดเป็นต้นทุนมหาศาลในการจัดการแข่งขัน โดยในปี 2032 เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพโดยปราศจากคู่แข่ง ภายใต้กระบวนการใหม่ หวังลดภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกในยุคก่อน
ส่วนเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งหน้า เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เคยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1984 มาแล้ว และสามารถบริหารจัดการ ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วเกือบทั้งหมด ทำให้ลอสแอนเจลิสสามารถโชว์ตัวเลขกำไรจากการจัดการแข่งขันจำนวน 215 ล้านเหรียญสหรัฐ
แผนสำหรับ ลอสแอนเจลิส ในปี 2028 จึงจะไม่แตกต่างไปจากเดิม นั่นคือ การใช้สถานที่ที่มีอยู่ หรือสร้างชั่วคราว เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น ไม่ต้องเนรมิตแผนราคาแพงที่เปลี่ยนแปลงเมืองมากเกินไป
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อมวลมนุษยชาติในระดับโอลิมปิก อาจยังไม่ใช่โอกาสของเมืองหรือประเทศที่มีรายได้ปานกลางลงมา แต่น่าจะเหมาะกับประเทศหรือเมืองที่มีศักยภาพเพียงพอทั้งด้านการเงินและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว.
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ที่จะทำให้ "การเงินดีชีวิตดี" ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney