รถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝันเป็นจริงของคนกรุง

Experts pool

Columnist

Tag

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝันเป็นจริงของคนกรุง

Date Time: 19 ก.ค. 2567 19:31 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ในที่สุดก็มีพิธีจรดปากกาลงนามในสัญญาระหว่าง รฟม.กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถือเป็นการปิดตำนานมหากาพย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม สมบูรณ์แบบ ให้มีการก่อสร้างต่อ เพราะหากจะย้อนรอยของการปิดตำนาน จะพบว่าโครงการนี้เคยยืดเยื้อฟ้องร้องคดีกันนัว ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ ปี 2563 ที่เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จนถึงปัจจุบันกว่า 5 คดี

Latest


ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับคนกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ที่อาศัยอยู่แถว รามคำแหง มีนบุรี ที่ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า...จะได้นั่งโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ภายในปลายปี 2570 นี้แน่ๆ จากที่ก่อนหน้านี้หากใครเดินทางผ่านไปมาแถวถนนรามคำแหงไปยังมีนบุรี ก็แอบอดสงสัยไม่ได้ว่า โครงสร้างตอม่อ รถไฟฟ้า ที่อยู่บนถนน และสร้างเสร็จมาหลายปี ทำไมจึงไม่มีรถไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการ ขณะที่พื้นด้านล่างรถติดแทบจะไม่ขยับ 

แล้วก็มีคำถามกันมาว่า...รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอะไรกันอยู่ แถมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง หรือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี ที่ก่อสร้างทีหลัง กลับแล้วเสร็จมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการกันแล้ว

มา ณ วันนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้ว ภายหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอ

และล่าสุดยังได้มีพิธีจรดปากกาลงนามในสัญญาระหว่าง รฟม.กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งในงานได้มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นั่งเป็นประธาน พร้อมด้วย สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม, มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม, ผู้บริหาร รฟม. และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมงานเป็นสักขีพยาน เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา 

งานนี้ถึงกับทำให้หลายฝ่ายที่เคยเกี่ยวข้องกับอภิมหาโครงการนี้ ถึงกลับโล่งอก ถอนหายใจกันเป็นแถว!!!  

เพราะถือเป็นการปิดตำนานมหากาพย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมสมบูรณ์แบบ และมีการก่อสร้างต่อ เพราะหากจะย้อนรอยของการปิดตำนาน จะพบว่าโครงการนี้เคยยืดเยื้อฟ้องร้องคดีกันนัว ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ ปี 2563 ที่เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จนถึงปัจจุบัน กว่า 5 คดี ระหว่าง บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาร่วมยื่นประมูล ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนรัฐและเอกชน 2562 และฟ้อง รฟม.

จนมาในคดีสุดท้าย คดีที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ ในการประกาศเชิญชวนฯ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ที่ BTSC ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในประเด็นการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ซึ่งคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ยกฟ้อง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 โดยเห็นว่าประกาศเชิญชวนและเอกสารประกวดราคา หรือ RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ดำเนินการถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้และชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการทำละเมิดต่อ BTSC

ซึ่งผลจากคำตัดสินดังกล่าว จึงถือเป็นคดีสุดท้ายที่ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และนำมาสู่การที่ รฟม.ได้เสนอผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดมาที่กระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอ ครม. มีมติอนุมัติโครงการในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

หลายคนถามว่า ในเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สร้างเสร็จแล้ว...ทำไม รฟม. จึงไม่ดำเนินการจัดหาระบบ และรถไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการก่อน ทำไมต้องรอให้มีการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสีส้มฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์  

คำตอบที่ได้จากภาครัฐให้หายคลายสงสัยคือ ทางภาครัฐต้องการให้ผู้ประกอบการในการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นผู้ประกอบการรายเดียวกันทั้งเส้นทาง ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร จาก “บางขุนนนท์-มีนบุรี” เพราะมองว่าหากมีผู้ประกอบการเดินรถหลายรายในเส้นทางเดียวกัน จะส่งผลต่อผู้โดยสารที่จะต้องขึ้นลง ต้องเปลี่ยนระบบ

ดังนั้นจึงได้ผูกสัญญาให้เอกชนที่ได้รับผิดชอบงานก่อสร้างรถไฟฟ้าในส่วนของงานโยธา ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ จะต้องเป็นผู้จัดหาระบบและรถไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการด้วย และเมื่อโครงการประมูลติดหล่ม ถูกฟ้องร้องไปมา ทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงเป็นเหตุที่ทำให้ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ได้รับผลกระทบไปด้วยนั่นเอง

และเมื่อโครงการมีการเดินหน้าต่อ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม จึงได้กล่าวย้ำว่า หลังจากนี้ทางบริษัท BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเร่งรัดจัดหาขบวนรถไฟฟ้า มาเปิดให้บริการในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนภายในสิ้นปี 2570 ขณะเดียวกันจะเร่งผลักดันให้รถไฟฟ้าสายสีส้มสามารถเปิดให้บริการตลอดแนวเส้นทาง บางขุนนนท์-มีนบุรี ได้ภายในปี 2573

“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นับเป็นโครงการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะทราบว่าขณะนี้ธนาคารกรุงเทพตกลงปล่อยกู้ให้กับ BEM แล้ว 100% นั่นแสดงให้เห็นว่า ทางสถาบันการเงินมีความเชื่อมั่นในโครงการ และโครงการนี้มีการลงทุนระดับกว่า 1 แสนล้านบาท กระทรวงคมนาคม จึงเชื่อว่าจะดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ให้กับประเทศได้ราว 0.1% ทั้งยังเกิดการจ้างงานในโครงการไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน และเงินจะสะพัดจากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอีก 8 หมื่นล้านบาท”

ในส่วนของค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีส้มนั้น รมว.คลังยังสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่จะใช้บริการอีกว่า รถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงคมนาคม จะนำเข้าไปอยู่ในนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งทราบว่าทางเอกชนมีสัญญากำหนดให้จัดเก็บค่าโดยสาร 17-42 บาท 

ดังนั้นส่วนต่างอัตราค่าโดยสารที่เกินจาก 20 บาทขึ้นไป ภาครัฐจะสนับสนุน โดยนำเงินชดเชยมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่เตรียมจัดตั้งขึ้นหลัง พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ค. นี้ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ 

ส่วน “พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า ขณะนี้ BEM อยู่ระหว่างคัดเลือกเทคโนโลยี เพื่อจัดหาขบวนรถไฟฟ้ารวม 51 ขบวนภายในปีนี้ นำมาให้บริการส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้ม จำนวนประมาณ 30 ขบวน และเสริมให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จำนวน 21 ขบวน โดย BEM จะทำการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าพร้อมกันในทีเดียว และคาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3 ปี ทยอยรับมอบส่วนแรกเพื่อให้บริการรถไฟฟ้า ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปลายปี 2570 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จะมีสถานีจำนวน 11 สถานี ซึ่งจะเป็นสถานีใต้ดินตลอดสาย 

งานนี้ก็คงต้องมาลุ้นกันต่อว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเป็นไปตามที่ได้ประกาศกับสาธารณชนไว้หรือไม่ ที่จะเปิดให้บริการ ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ได้จริงในปลายปี 2570 และเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง “บางขุนนนท์-มีนบุรี” ภายในปี 2573 หรือจะเป็นแค่ราคาคุยไว้เรียกกระแสคะแนนจากคนกรุงเท่านั้น....

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

สุรางค์ อยู่แย้ม

สุรางค์ อยู่แย้ม
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ